“ชูวิทย์”บุกคมนาคมแฉ!ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มลอคสเปค!-จะทำทุกทางไม่ให้พรรคภูมิใจไทยได้คะแนนในกรุงเทพฯ

“ชูวิทย์”ราคาคุยตั้งโต๊ะแถลงข่าวหน้ากระทรวงคมนาคม พร้อมโชว์แปรงฟัน บ้วนน้ำยาปาก หลัง “ศักดิ์สยาม”กล่าวหาว่า ตื่นมาไม่ได้ล้างหน้าแปรงฟัน ยันไม่ได้บอกว่าจะมายื่นเอกสารเงินทอน 3หมื่นล้านบาทให้คมนาคม เหตุกลัวดองข้อมูล ขอให้กับ “บิ๊กตู่” คนเดียว ย้ำ!โครงการมันยังไม่เริ่ม การจ่ายก็ยังไม่มี ยังเป็นเหมือนการตกลง ถึงมีหลักฐานก็ยังไม่ให้ จะรอให้ผู้ร้ายมอบตัวก่อน พร้อมยืนยันเสียงแข็งไม่ได้รับเงินฝ่ายใดมาสักบาท แต่ออกมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้ประชาชน และประเทศชาติ ลั่น!จะทำทุกอย่างให้ “พรรคภูมิใจไทยไม่ได้คะแนนในกรุงเทพฯ ด้าน กระทรวงคมนาคม-ผู้ว่า รฟม. เปิดห้องโต้ข่าว ยัน!ไม่เคยลอคสเปคประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หากวันนี้ ชูวิทย์ ส่งหลักฐานบัญชีเงินโอน คมนาคมเตรียมกรรไกรพร้อมตัดเปิดให้สาธารณชนเห็นทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคม ว่า วันนี้ ( 24 ก.พ. )เมื่อเวลา 13.15 น.  นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ได้เดินทางมายังกระทรวงคมนาคม พร้อมตั้งโต๊ะแถลงข่าวเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยก่อนเริ่มการแถลงข่าวนั้น ได้นำน้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดคนโกง และสเปย์ดับกลิ่นเหม็นเงินทอน มาฉีดพ่นบริเวณด้านหน้า และภายในห้องโถงของกระทรวงคมนาคม พร้อมกันนี้ยังได้โชว์ล้างหน้าแปรงฟัน เพื่อลบคำกล่าวของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่กล่าวหาว่านายชูวิทย์ ตื่นมาไม่ได้ล้างหน้าแปรงฟัน อย่างไรก็ตามในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้น นายศักดิ์สยาม ได้ส่งนางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการ รมว.คมนาคม และนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย(รฟม.) ให้การต้อนรับ และรอรับเอกสารหลักฐาน แต่ปรากฏว่านายชูวิทย์ ไม่ได้ยื่นเอกสารให้ แต่ได้ยื่นน้ำยาบ้วนปากฝากให้นายศักดิ์สยามแทน 

โดยนายชูวิทย์ กล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าจะเดินทางมายื่นหลักฐานเอกสารให้กับกระทรวงคมนาคม จะให้ยื่นทำไมในเมื่อเป็นกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการประมูล ซึ่งตนจะนำเอกสารหลักฐานไปยื่นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก เพื่อให้การบริหารงบประมาณจากเงินภาษีอากรใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า พร้อมทั้งให้ตรวจสอบนายศักดิ์สยามด้วย เนื่องจากเรื่องราวเกิดขึ้นในสมัยศักดิ์สยาม เป็นเจ้ากระทรวง และรู้เรื่องเป็นอย่างดี แต่ไม่ดำเนินการใดๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ถือว่าเป็นการละเว้นเกี่ยวกับหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

.”ชูวิทย์”ยันไม่ได้รับงานใครมา

นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า การออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ ยืนยันว่าไม่ได้รับเงินฝ่ายใดมาสักบาท แต่ออกมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้ประชาชน และประเทศชาติ แต่หากเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มใครรับเงินมาไม่ว่าจะกี่บาทขอสาปแช่งให้ไม่เจริญ แต่ถ้าไม่ได้รับก็ขอให้เจริญๆ อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของการทุจริตรถไฟฟ้าสายสีส้มอยู่ที่การล็อกสเปคชัดเจน โดย รฟม มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และคุณสมบัติผู้เข้าร่วมการประมูลใหม่ จากเดิมต้องเป็นบริษัทผู้เดินรถในไทย เปลี่ยนเป็นบริษัทเดินรถได้ทั่วโลก ส่วนบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง เดิมเปิดกว้างให้ผู้รับเหมาจากทั่วโลกสามารถเข้าประมูลได้ แต่กลับเปลี่ยนใหม่เป็นต้องเป็นผู้รับเหมาที่มีผลงานการสร้างอุโมงค์ และงานรางที่สำเร็จแล้วในประเทศไทย ซึ่งก็มีเพียงแค่ 2 บริษัทคือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เท่านั้น  

ส่วนบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) ยังไม่มีผลงาน จึงทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทเดินรถไม่มีบริษัทผู้รับเหมา จึงเข้าประมูลไม่ได้ ขณะที่บริษัท ช.การช่างฯ จับคู่กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ส่วนบริษัท อิตาเลียนไทยฯ จับคู่กับบริษัทเดินรถจากประเทศเกาหลีใต้ แต่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ก็ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากผู้บริหารเป็นบุคคลต้องโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกา ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลตามเงื่อนไขของ รฟม. ได้ จึงทำให้บริษัทผู้รับเหมาเหลือเพียงรายเดียวคือ บริษัท ช.การช่าง

“กระทรวงคมนาคมมีความพยายามที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จก่อนหมดอายุรัฐบาลชุดนี้ด้วย ซึ่งหากเอาเอกสารหลักฐานยื่นไปให้กระทรวงคมนาคมก็ไม่รู้จะเอาไปเก็บใส่เก๊ะหรือเปล่า จะไปยื่นให้ทำไม อยากได้ให้ไปเอาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และอย่าเอาผมไปพัวพันกับนักการเมือง อีกทั้งหากเก่งจริงนายศักดิ์สยามต้องอยู่กระทรวงคมนาคม อย่าลืมเอาน้ำยาไปบ้วนปากด้วย เหม็นขี้ฟัน และที่ขู่ว่าจะฟ้องผม ก็ไปฟ้องเลย ไม่เคยกลัว ขอให้ทำจริง อย่าปากเหม็น แต่ตอนเลือกตั้งระวังให้ดี เจอถล่มเละแน่ จะไม่ให้พรรคภูมิใจไทยได้สักเสียงในกรุงเทพฯ เลย”นายชูวิทย์ กล่าว 

ต่อข้อถามว่า มีหลักฐานเรื่องการโอนเงิน 3 หมื่นล้านที่ประเทศสิงคโปร์หรือไม่ นายชูวิทย์ กล่าวว่า โครงการมันยังไม่เริ่ม การจ่ายก็ยังไม่มี ยังเป็นเหมือนการตกลง ถึงมีหลักฐานก็ยังไม่ให้ จะรอให้ผู้ร้ายมอบตัวก่อน

.คมนาคมเตรียมกรรไกรเปิดซองหลักฐานเงินทอน

ด้านนางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มอบหมายให้อยู่ต้อนรับ นายชูวิทย์ เนื่องจากติดภารกิจลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ ซึ่งกำหนดการนี้ได้กำหนดล่วงหน้าไว้แล้ว โดยวันนี้ (24 ก.พ.) ตั้งใจมารับหนังสือจาก นายชูวิทย์ แต่พอมารับหลักฐานกลับบอกจะไปยื่นหนังสือให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้หากนายชูวิทย์ มีหลักฐานเรื่องการโอนเงินทอน 3 หมื่นล้านบาทที่ประเทศสิงคโปร์ หรือมีหลักฐานตามที่นายชูวิทย์เคยให้ข้อมูลต่อสื่อไป เราพร้อมที่จะรับและจะเปิดเผยต่อหน้าสื่อมวลชนทั้งหมด แต่ในเมื่อนายชูวิทย์ ไม่มีหลักฐานมา หรือมีแต่ไม่ยื่นก็ให้เวลานายชูวิทย์

“ไม่ได้รู้สึกผิดหวัง แต่เราทุกคนคือคนไทย ทุกคนมีหน้าที่ในการเดินทาง ถ้าท่านมีหลักฐานที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนก็นำมายื่นได้เลยทุกอย่างก็จะง่าย แต่ในเมื่อไม่มีหลักฐานมายืนยัน แล้วคนส่วนใหญ่จะเชื่อตามนายชูวิทย์ก็อาจจะเชื่อตามที่นายชูวิทย์กล่าว แต่ยืนยันว่าวันนี้เราเตรียมกรรไกรมาเพื่อตัดซองเอกสารให้สื่อมวลชนเห็นพร้อมกัน นายชูวิทย์ไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้ก็ได้ แต่เมื่อไม่มีมา เราก็ให้นายชูวิทย์แอ็คชั่นต่อไป” นางสุขสมรวย กล่าว

นางสุขสมรวย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การที่นายชูวิทย์ ดำเนินการเช่นนี้ทางกฎหมายสามารถฟ้องร้องกันได้ แต่เราไม่รู้จะทำไปทำไม ในเรื่องของรถไฟฟ้าสายที่ส้ม ตอนนี้กระบวนการทั้งหมดอยู่ที่กระบวนการศาล แต่ในครั้งนี้เราผิดหวังที่เราตั้งใจว่าจะได้เห็นเอกสารตามที่นายชูวิทย์ แสดงครั้งที่แล้ว นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ได้สั่งการว่าหากได้รับเอกสารอะไรให้ส่งสำเนาให้สื่อมวลชนทั้งหมด ไม่ต้องกังวลใดๆ เพราะกระทรวงฯ และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีความมั่นใจในสิ่งที่ทำทั้งหมด  

ส่วนนายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า สำหรับกรณีที่นายชูวิทย์ กมลศิษฐ์ ตั้งข้อสังเกตการทุจริตในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้ง 5 สถานีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีผู้ฟ้องคดี คือ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 หากดูสถานะของคดีในศาลปกครองพบว่ามีทั้งหมด 3 คดี คือ 1.คดีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.คดีการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลคำพิพากษาออกมาแล้ว  3.คดีการประมูลครั้งใหม่ที่มีการล็อคสเปคกีดกันการแข่งขัน และคดีที่อยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำนวน 1 คดี คือ คดีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลโดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนนด้านเทคนิคเป็นร้อยละ 30 ด้านการลงทุนและผลตอบแทนเป็นร้อยละ 70 เป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอใหม่ และการประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ซึ่งทุกคดีที่กล่าวมานั้นสอดคล้องกับคดีที่อยู่ในกระบวนการศาลทั้งสิ้น

ทั้งนี้การต่อสู้ทางกฎหมาย เป็นกติกาที่สังคมต้องยอมรับ เมื่อคำพิพากษาสูงสุดของศาลปกครองเป็นอย่างไรก็ต้องดำเนินการตามตามนั้น ส่วนการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมายและการยกเลิกการประมูลโครงการฯมีคำตัดสินของศาลปกครองกลางแล้ว ซึ่งมีการนั่งพิจารณาคดี โดยตุลาการศาลปกครองสูงสุด คาดว่าคำพิพากษาจะออกมาเร็วๆนี้ รฟม.เชื่อมั่นคำให้การของรฟม.เองที่ส่งให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาถึงความหนักแน่นกระบวนการที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามกฎหมาย

.รฟม.โต้หาว่ามีเงินทอนเหตุเคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจสีเทามาก่อน

“ส่วนกรณีที่มีหลักฐานการรับเงินทอนในโครงการฯดังกล่าว จำนวน 30,000 ล้านบาทที่เข้ากระเป๋าเงินในบัญชีธนาคาร HSBC ที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะเรื่องดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงว่ามีการวิ่งเต้นคำพิพากษาเพื่อประโยชน์นั้น การกล่าวหาในครั้งนี้น่าจะใกล้เคียงพูดหมิ่นเหม่ละเมิดต่อศาล ไม่แน่ใจว่าหากศาลปกครองมีการดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าว จะได้รับความเมตตาจากศาลหรือไม่ ส่วนกรณีที่มีการกล่าวถึงการล็อคสเปคการก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยืนยันว่ารฟม.และกระทรวงคมนาคมดำเนินการด้วยความโปร่งใส สิ่งที่คุณพูดนั้นไม่แน่ใจเป็นประสบการณ์ของคุณในการทำธุรกิจสีเทาดั้งเดิมหรือไม่” 

นายภคพงศ์  กล่าวต่อว่า กรณีที่มีการประมูลครั้งใหม่มีการล็อคสเปคผู้รับเหมาเดินรถในไทยที่มีแค่ 2 รายนั้น คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง แต่บีทีเอสซีได้มีการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้รฟม.ดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการคัดเลือกครั้งใหม่ ซึ่งเป็นการฟ้องร้องก่อนที่จะเกิดขึ้นก่อนการเปิดรับซองข้อเสนอโครงการฯ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้มีการพิจารณาคำร้องของบีทีเอสซีในตุลาการศาลปกครองกลาง รวมทั้งมีการไต่สวนคู่ความ โดยรฟม.มีการแสดงหลักฐานและเอกสารต่างๆ 

ทั้งนี้ในที่ประชุมในตุลาการฯมีการพิจารณาแล้วพบว่าการประกาศเชิญชวนฯและเอกสารคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยลักษณะการประมูลในครั้งนี้มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมการคัดเลือกมากกว่าการประกาศเชิญชวนในครั้งแรก อีกทั้งในประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการกีดกันการแข่งขันกับผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีสามารถหาผู้รับจ้างงานโยธามาร่วมยื่นข้อเสนอได้ แต่ปรากฏว่าในวันที่ยื่นข้อเสนอบีทีเอสซี เป็นผู้ซื้อซองข้อเสนอ แต่ไม่ได้มีการยื่นข้อเสนอ ซึ่งศาลปกครองมีการยืนยันว่าบีทีเอสซีสามารถยื่นข้อเสนอร่วมโครงการฯได้ โดยที่ไม่ได้กีดกันบีทีเอสซี

สำหรับการประมูลของโครงการฯในครั้งนี้มีการเปิดกว้างแก่ผู้รับเหมาจากต่างประเทศที่ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินเดินรถหลายราย โดยกำหนดให้ผู้รับเหมาต้องมีผลงานในไทย พบว่ามีเอกชนที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ทั้งหมด 10 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR 4.บริษัท ยูนิค  เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UN 5.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด 6.Bilfinger Berger 7. Tokyu 8.Kumagai 9.Obayashi, และ 10.Nishimatsu