ชำแหละ “หนี้ครัวเรือน” ทะลุ 90% จีดีพี

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 พสัส หรือ โควิดระลอกที่ 3 บวกด้วยสายพันธุ์เดลตา ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้ง่ายๆ โดยนักเศรษฐศาสตร์ให้จับตา 5-6 เดือนอันตราย  หรือจากวันนี้ไปจนถึงสิ้นปี 64  ซึ่งจะเป็นตัดสินชะตาของการแพร่ระบาด รวมทั้งชะตาของเศรษฐกิจประเทศ

สิ่งหนึ่งที่รัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวลคือ ปัญหาหนี้สินของประชาชน ซึ่งสูงขึ้นๆ เรื่อยๆ และเป็นภาระที่หนักอึ้งเพิ่มมากขึ้นๆ ของคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อรายได้ครัวเรือนถูกซ้ำเติมด้วยการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความไม่เชื่อมั่นในการใช้จ่ายระลอกแล้วระลอกเล่า

ตัวเลขล่าสุดที่ออกมา “หนี้ครัวเรือน” คิดจาก “เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน” ในไตรมาสแรกของปี 2564 พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 14,128,071 ล้านบาท คิดง่ายๆ คือ ประมาณ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.5% เมื่อเทียบกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปัจจุบัน สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการรวบรวมสถิติดังกล่าว

(เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP หรือหนี้ครัวเรือนต่อ GDP คำนวณจากเงินที่ภาคครัวเรือนกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หารด้วยผลรวมของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาประจำปี (QGDP) 4 ไตรมาสย้อนหลัง โดยเริ่มนับจากไตรมาสที่อ้างถึง)

หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ ไตรมาสแรกของปี 63 ซึ่งยังไม่เกิดการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ในไทย ขณะนั้นมียอดหนี้ครัวเรือน13,502,395 ล้านบาท คิดเป็น 80.2% ของจีดีพี เท่ากับ 1 ปีของการระบาดและการทรุดตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ คนไทยกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้นประมาณ 5% หรือคิดเป็นวงเงินหนี้สินที่เพิ่มขึ้น 625,676 ล้านบาท 

โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมของรายย่อย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์

ขณะที่ศูนย์กสิกรไทย มองแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2564 นั้น ว่าจะยังเป็นทิศทางของการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ตอบแบบสอบถามในเดือนมิ.ย. ส่วนใหญ่ราว 79.5% ประเมินว่า ปัญหาหนี้ของตัวเองยังไม่น่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 

โดยประมาณการหนี้ครัวเรือนไทยในปีนี้ว่า จะปรับขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่กรอบ 90-92% ต่อจีดีพีในช่วงสิ้นปี จากกรอบเดิมคาดที่ 89-91% ต่อจีดีพี

ขณะเดียวกัน ในการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ของธปท.ล่าสุด ให้ความเห็นว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงได้ ทำให้ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อยยิ่งมีความเปราะบางมากขึ้น มีครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาชำระหนี้แล้วในขณะนี้ และหากเร่งแก้ไข จะเป็นปัญหามากขึ้นหากในช่วงต่อไปอัตราดอกเบี้ยกลับไปเป็นขาขึ้นหรือเศรษฐกิจเผชิญความผันผวนสูง 

ขณะที่พบว่า หนี้ครัวเรือน เกือบ 1 ใน 4 หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ของสถาบันการเงินที่อยู่นอกการกำกับดูแลของ ธปท. ทำให้ ธปท.เข้าไปแก้ปัญหาโดยตรงไม่ได้   โดยยอมรับว่า มาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภาระอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ ที่สำคัญ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ ธปท.จัดเก็บหนี้ ยังไม่ได้นับรวมหนี้บางชนิด เช่น หนี้นอกระบบ

ทั้งนี้ หากชำแหละลงไปในตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ไตรมาสแรกของปีนี้ที่มีอยู่มากกว่า 14 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ส่วนไหนบ้าง หนี้ส่วนที่ใหญ่ที่สุด คือ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มูลหนี้ 4,831,187 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 1 ปี เทียบกับไตรมาสแรกของปี 63 เพิ่มขึ้น 256,854 ล้านบาท 

ตามมาด้วย สินเชื่ออุปโภคบริโภคของรายย่อยอื่นๆ (ไม่รวมสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มอเตอร์ไซด์ และสินเชื่อเพื่อการศึกษา) เป็นสินเชื่อทั้งสิ้น 3,916,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 237,340 ล้านบาท และสิ่งที่น่าสนใจคือ สินเชื่ออุปโภคบริโภคของรายย่อยในส่วนนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ของบริษัทปล่อยสินเชื่อที่ ธปท.ไม่ได้กำกับดูแล จะมีประมาณ 994,274 ล้านบาทเท่านั้น ที่เป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธปท. 

ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่มีมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 คือ หนี้ที่กู้ยืมเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ วงเงิน 2,552,128 ล้านบาท โดยหากเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 110,275 ล้านบาท เนื่องจากมีกิจการรายย่อยส่วนหนึ่งที่ต้องปิดชั่วคราว และปิดถาวรในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่ต้องการสินเชื่อเพิ่มเติมมากนัก

หนี้สินลำดับถัดไป คือ สินเชื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มูลหนี้ 1,792,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 34,615 ล้านบาท ตามกำลังซื้อของคนไทยลดลง และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้คนยังไม่เปลี่ยนรถใหม่ ตามมาด้วยหนี้สินอื่นๆ หรือ เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์และเงินให้กู้ยืมที่ไม่สามารถจำแนกวัตถุประสงค์ได้มียอดหนี้รวมกันทั้งสิ้น 746,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32,208 ล้านบาท

สุดท้ายคือ สินเชื่อเพื่อการศึกษา ยอดหนี้คงค้าง 289,322 ล้านบาท และเป็นหนี้ประเภทเดียวของหนี้ครัวเรือนของไทย ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือก่อนเกิดโควิด-19 ลดลง 69,639 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากมูลหนี้ครัวเรือนทั้งสิ้น 14.13 ล้านล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมาได้มีหนี้สินจำนวนหนึ่งได้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินไปแล้วจำนวนหนึ่ง เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และจักรยานยนต์ แต่ก็ยังมีหนี้ครัวเรือนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการชะลอภาระ หรือปรับโครงสร้างการชำระหนี้

นอกจากนั้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลง การเปิดให้ทำกิจกรรมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมาในช่วงกึ่งล็อกดาวน์ ซึ่งคาดกันว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจากนี้ ธปท.กำลังจับตาปัญหาฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน และความเปราะบางของตลาดแรงงานที่มากขึ้น  โดยเฉพาะในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งจะกระทบต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ของผู้กู้ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ

โอกาสที่ความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทยกลุ่มนี้จะยิ่งเปราะบางมากขึ้น แม้กระทั่งรายที่ปรับโครงสร้างไปแล้วก็ตาม ขณะที่หลายรายใช้วิธีกู้หนี้นอกระบบเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยพยุงค่าใช้จ่ายประจำวัน

ดังนั้นในระยะสั้นการตัดวงจรการระบาดของโควิด-19 ให้เร็วที่สุดเพื่อเปิดเศรษฐกิจ เปิดรับนักท่องเที่ยว ฟื้นโอกาสการทำมาหากินให้กลับคืนมา เป็นหนทางประคับประคองหนี้ครัวเรือนที่ดีที่สุด ขณะที่การเพิ่มรายได้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่าย และการสร้างวินัยทางการเงิน เป็นหนทางแก้หนี้ครัวเรือนในระยะยาว

#Thejournalistclub #หนี้ครัวเรือน #โควิด