ชาวมองโกเลียในจีนประท้วงหลังรัฐสั่งใช้ภาษาจีนกลางสอนหนังสือในโรงเรียนแทนภาษาท้องถิ่น

ชนกลุ่มน้อยชาวมองโกเลียที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของจีนออกมาชุมนุมประท้วงที่รัฐบาลจีนสั่งปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยให้ใช้ภาษาจีนกลางในการสอนแทนภาษามองโกเลีย ซึ่งเป็นภาษาประจำถิ่น

นโยบายใหม่กำหนดให้สถาบันการศึกษาในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในค่อย ๆ เริ่มใช้ภาษาจีนกลางซึ่งเป็นภาษาหลักของจีนในการสอนวิชาหลัก 3 วิชา ได้แก่ การเมือง ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรม ในภาคการศึกษาใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 ก.ย.

อย่างไรก็ตาม ชนกลุ่มน้อยชาวมองโกเลียหลายคนมองว่านโยบายดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพวกตน ส่งผลให้เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีเด็กนักเรียนและผู้ปกครองในหลายเมืองออกไปชุมนุมประท้วงซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ต่อการเปลี่ยนหลักสูตรการสอนของทางการจีน และห้ามไม่ให้บุตรหลานไปโรงเรียน

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia) ผู้ให้บริการข่าวสารที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุน รายงานอ้างถ้อยคำของเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ร้องตะโกนในการประท้วงจุดหนึ่งว่า “ภาษาของเราคือภาษามองโกเลีย และบ้านเกิดเมืองนอนของเราคือมองโกเลียตลอดไป!

ขณะที่ภาพของผู้หญิงที่ร่วมกันพิมพ์ลายนิ้วมือและเซ็นชื่อในเอกสารคำร้องคัดค้านนโยบายดังกล่าวก็กำลังถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางทางโซเชียลมีเดีย

“การลบล้างภาษามองโกเลีย”

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารสิทธิมนุษยชนมองโกเลียใต้ (The Southern Mongolian Human Rights Information Center) กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีสำนักงานในนครนิวยอร์ก ระบุว่า ผู้ปกครองจำนวนมากในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในแสดงความไม่พอใจที่ได้รับทราบเกี่ยวกับนโยบายใหม่ในช่วงที่โรงเรียนกำลังจะเปิดเทอม

ทางกลุ่มระบุว่า ได้เกิดการเผชิญหน้าตึงเครียดที่โรงเรียนประจำแห่งหนึ่ง เนื่องจากผู้ปกครองหลายร้อยคนเรียกร้องให้โรงเรียนปล่อยตัวบุตรหลานของพวกเขากลับบ้าน

“ตำรวจปราบจลาจลหลายร้อยนายถูกระดมไปยังจุดเกิดเหตุ เพื่อป้องกันผู้ปกครองบุกเข้าไปในหอพักนักเรียน แต่หลังจากเผชิญหน้ากันนานหลายชั่วโมง ในที่สุดผู้ปกครองก็ฝ่าแนวกั้นของตำรวจเข้าไปรับตัวบุตรหลานของพวกเขากลับบ้าน” ทางกลุ่มระบุในแถลงการณ์

ทางการจีนได้เตือนประชาชนในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในไม่ให้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ขณะที่โพสต์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวบนเว่ยป๋อ (Weibo) โซเชียลมีเดียยอดนิยมของจีนก็ถูกถอดออกไปจำนวนมาก

ความรู้สึกกังวลเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวยังคงมีสูงและทำให้ผู้ปกครองบางคนยังไม่ยอมส่งบุตรหลานไปโรงเรียน

เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในมองโกเลียในให้สัมภาษณ์กับบีบีซีวันนี้ (1 ก.ย.) ว่ามีนักเรียนลงทะเบียนเรียนราว 40 คน จากปกติที่มีมากถึง 1,000 คน และในเวลาต่อมามีนักเรียนบางส่วนเปลี่ยนใจ ทำให้เหลือเด็กนักเรียนอยู่เพียง 10 คน

เจ้าหน้าที่ระบุว่ามีการส่งครูไปพบกับครอบครัวเด็กเพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้ปกครองยอมส่งบุตรหลานไปเรียน แต่ผู้ปกครองบางคนเป็นห่วงว่าการเปลี่ยนภาษาในการสอนจะส่งผลเสียต่ออนาคตของภาษามองโกเลีย ซึ่งเป็นภาษาแม่ของผู้คนที่นี่

ชายแซ่หู วัย 32 ปี ที่มีอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เขามีความกังวลว่านโยบายนี้จะทำให้เด็ก ๆ ใช้ภาษาแม่ได้ไม่คล่องแคล่ว

“แทบทุกคนในมองโกเลียในคัดค้านการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาครั้งนี้” นายหู กล่าว

บรรดานักวิจารณ์ระบุว่า รัฐบาลจีนกำลังเร่งผลักดันการกลืนกลายทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในประเทศ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากนานาชาติต่อกรณีที่จีนปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวมุสลิมอุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียง

ทางด้านสำนักงานการศึกษาในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในได้ออกแถลงการณ์ที่ดูเหมือนเป็นการชี้แจงต่อกระแสคัดค้านที่เกิดขึ้น โดยอ้างถึงความสำคัญในการ “ส่งเสริมการศึกษาภาษาประจำชาติในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย”

ขณะที่นายเตมต์ซิลตู ช็อบต์ซุด ประธานพรรคประชาชนมองโกเลียใน ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองพลัดถิ่นให้สัมภาษณ์กับบีบีซีจากประเทศเยอรมนีโดยกล่าวหารัฐบาลจีนว่า “พยายามลบล้าง” ภาษามองโกเลีย

“การบังคับใช้ภาษาจีนกลางและวัฒนธรรมชาวฮั่น ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศต่อบรรดาชนกลุ่มน้อยในมองโกเลียในเป็นรูปแบบหนึ่งของ “การทำลายล้างวัฒนธรรม”

ที่มา https://www.bbc.com/thai/international-53984445