ชาวบ้านกะเหรี่ยงแตกฮือหนีเข้าไทย โดนทหารเมียนมาโจมตีทางอากาศเพื่อตอบโต้หลังสูญเสียฐานทัพ

วันสถาปนากองทัพเมียนมา วันนองเลือดฆ่าชาวบ้านไปอย่างน้อย 114 ราย

สำนักข่าวท้องถิ่นของเมียนมารายงานว่าเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ชาวบ้านเขตมูวาดอว์ (Hpapun) ของรัฐกะเหรี่ยงจำนวนกว่ า 3,000 คนพากันหนีตายเนื่องจากการโจมตีทางอากาศของทหารเมียนมาหลายระลอกเพื่อตอบโต้หลังกองทัพเมียนมาสูญเสียฐานทัพให้กับกองทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เมื่อวัน 27 มีนาคมที่ผ่านมา  โดยบางคนหนีเข้าเมืองไทย แถบปากห้วยแม่สะเกิบ แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน บางคนหนีเข้าป่า พวกเขาได้ยินข่าวลือว่าจะมีเครื่องบินขับไล่มาเพิ่มในตอนเย็น” 

ขณะเดียวกันสื่อท้องถิ่นหลายแห่งของเมียนมารายงานจำนวนผู้เสียชีวิต จากการปราบปรามการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันครบรอบการสถาปนากองทัพปีที่ 76 ว่ามีจำนวน “ไม่ต่ำกว่า 100 ราย” โดยเมียนมา นาว รายงานไว้ที่อย่างน้อย 114 ราย และดิ อิรวดี รายงานไว้ที่อย่างน้อย 102 ราย

ผู้เสียชีวิตรวมถึงเด็กอย่างน้อย 4 คน อายุระหว่าง 5-15 ปี ขณะที่การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเกิดขึ้นตามสถานที่ 44 แห่ง ใน 10 รัฐและภูมิภาค โดยพื้นที่รุนแรงที่สุดคือเมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์

นับเป็นวันนองเลือดที่สุดครั้งใหม่ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา และทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น “มากกว่า 420 ราย” มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก “เป็นจำนวนมาก” และมีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 3,000 คน รวมถึงนางออง ซาน ซูจี และอดีตประธานาธิบดีวิน มยินต์

กองทัพไทยแจงร่วมพิธีสวนสนาม

ทางด้านฝ่ายความมั่งคงของไทย ได้ยอมรับว่าไทยเป็น 1 ใน 8 ประเทศ ที่ส่งผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เข้าร่วมงานในพิธีสวนสนาม ในโอกาสครบรอบวันสถาปนา 76 ปี ของกองทัพเมียนมา พร้อมย้ำว่าการร่วมงานเป็นเพียงการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการทหารของทั้ง 2 ประเทศเท่านั้น

กองทัพไทยต้องดำรงความสัมพันธ์ทางด้านการทหารระหว่างไทยกับเมียนมา แม้กองทัพไทยจะเข้าใจถึงความกังวลของนานาชาติที่มีต่อสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา แต่ขอให้แยกแยะระหว่างความสัมพันธ์กับสถานการณ์ เพราะหากไทยเกิดปัญหากับเมียนมา อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ชายแดนรวมถึงปัญหาการค้าขาย

กองทัพไทย ย้ำจุดยืนมาตลอดว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวหรือสนับสนุนเหตุการณ์รัฐประหาร เพราะเป็นเรื่องภายในของประเทศเมียนมา อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กองทัพยึดตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา

สำหรับ 8 ประเทศ ที่เข้าร่วมงานพิธีดังกล่าวได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เวียดนาม ลาว และประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีดินแดนต่อกับเมียนมา และเกือบทุกประเทศส่งผู้แทนเข้าร่วมงาน มีเพียงรัสเซียที่ส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมงาน