ชาติเอเชียแปซิฟิกหยุดชะงักต่อสู้ยากจนอย่างน้อย 2 ปี

  • ยากลำบากหลุดพ้นความยากจนหลังโควิด-19 แพร่ระบาด
  • เหตุผู้คนตกงาน-จำกัดเข้าถึงเครือข่ายปลอดภัยทางสังคม
  • แต่คาดภายในปี 73 ประชากร 25% ก้าวขึ้นสู่ชนชั้นกลาง

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เผย วิกฤติโควิด-19 ทำให้การต่อสู้กับความยากจนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหยุดชะงักอย่างน้อย 2 ปี และอาจทำให้ภูมิภาคนี้เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากกว่าเดิม เพื่อหลุดพ้นความยากจน

ทั้งนี้ ในรายงาน “The Key Indicators for Asia and the Pacific 2022” ของ ADB ระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ มีแนวโน้มที่จะช่วยลดปัญหาความยากจนขั้นรุนแรง ลงสู่ระดับที่น่าจะบรรลุได้ในปี 63 หากไม่การระบาดของโควิด-19 โดยความยากจนขั้นรุนแรง หมายถึง กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 1.90 เหรียญสหรัฐฯ/วัน อีกทั้งโควิด-19 ยังเป็นอุปสรรคขัดขวางแนวโน้มการลดความยากจนในภูมิภาค เพราะทำให้ผู้คนตกงาน และจำกัดการเข้าถึงเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม

นอกจากนี้ ยังเตือนว่า เอเชียแปซิฟิกอาจเผชิญกับความล่าช้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development Goals) ซึ่งหมายความว่า ภูมิภาคนี้อาจประสบกับความล่าช้าในการบรรลุเป้าหมายการลดความยากจน, ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการปรับปรุงแรงขับเคลื่อนทางสังคม

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ภายในปี 73 ความยากจนขั้นรุนแรงในภูมิภาคจะลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 1% ในขณะเดียวกัน ประชากรประมาณ 25% มีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายการก้าวขึ้นสู่ชนชั้นกลางเป็นอย่างน้อย แต่แนวโน้มดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบจากความหลากหลายของแรงขับเคลื่อนทางสังคม และความไม่แน่นอนในด้านอื่นๆ เช่นความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเงินฝืด (ภาวะเงินเฟ้อสูงในเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว), ข้อพิพาทระหว่างบรรดาประเทศมหาอำนาจของโลก, ความไม่มั่นคงทางอาหารที่ทวีความรุนแรงขึ้น และราคาพลังงานพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง