“ชาญศิลป์” มั่นใจเต็มร้อยแผนฟื้นฟูการบินไทยผ่านการโหวตจากเจ้าหนี้12 พ.ค.นี้แน่นอน พร้อมเดินหน้าหาเงินกู้-ทุนใหม่ 5หมื่นล้านบาทมาเสริมสภาพคล่องใน2ปี

“ชาญศิลป์”มั่นใจเต็มร้อยแผนฟื้นฟูการบินไทยผ่านการโหวตจากเจ้าหนี้ 1.3 หมื่นราย ในวันที่ 12 พ.ค.นี้แน่นอน พร้อมเดินหน้าหาเงินกู้-ทุนใหม่ 5หมื่นล้านบาทมาเสริมสภาพคล่องใน2ปี ระยะสั้นกลางปีต้องหาเงินก่อน3หมื่นล้านมาจ่ายพนักงานร่วมใจจากภายในกลางปีนี้ ตั้งเป้าลดรายจ่าย ลดพนักงานจาก 2.1หมื่นคน เหลือ 1.3-1.5 หมื่นคนในสิ้นปีนี้ ส่วนกลางปีเดินหน้าเปิดเส้นทางบินต่างประเทศ เน้นยุโรป “แฟรงเฟริต-ปารีส-ซูริก-ลอนดอน-โคเปนเฮเกน”ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ มั่นใจกลับมาทำกำไรในปี 66-67

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้จัดทำแผน โดยในวันนี้การบินไทย(2มี.ค.) ได้จัดทำแผนแล้วเสร็จและยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยโดยในแผนฯได้ระบุมูลหนี้สินรวมทั้งสิน 410,000 ล้านบาท แต่มีมูลหนี้จริงที่การบินไทยยอมรับและเป็นหนี้ก่อนวันที่ 14 กย 63 ที่ 160,000- 170,000 ล้านบาท โดยการบินไทยมีเจ้าหนี้ทั้งสิ้น 13,000 ราย ซึ่งแผนที่เสนอจะไม่มีการลดหนี้เงินต้นของเจ้าหนี้(แฮร์คัท) เพื่ิอให้เจ้าหนี้ยอมรับแผนฟื้นฟูที่จะมีการโหวต 12 พ.ค.64 นี้ อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าแผนฟื้นฟูฯที่เสนอนี้จะผ่านการเห็นชอบแน่นอน และขั้นตอนเมื่อแผนฟื้นฟูฯผ่าน จะมีการส่งต่อไปยังศาลล้มละลายกลางตัดสิน ซึ่งคาดว่าตามกรอบเวลาน่าจะเป็นช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.64

ทั้งนี้การบินไทยได้พยายามเต็มที่ในการจัดเตรียมแผนฟื้นฟูกิจการที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมกับเจ้าหนี้ทั้งหลายมากที่สุด และมั่นใจว่าแผนฟื้นฟูฉบับนี้จะได้รับการยอมรับจากเจ้าหนี้และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยในเบื้องต้น คณะผู้ทำแผนเสนอให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผนที่จะบริหารและจัดการธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป โดยผู้ทำแผนได้เตรียมความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนเอาไว้อย่างดี เช่น เตรียมแผนการประกอบธุรกิจ เตรียมความพร้อมที่จะปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้น ในส่วนของพนักงาน มีการลดจำนวนผู้บริหาร อีกทั้งยังลดขั้นตอนการบังคับบัญชา เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ คล่องตัวขึ้น โดยคณะผู้ทำแผนจึงมั่นใจได้ว่าผู้บริหารแผนจะสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้การบินไทยกลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในฐานะสายการบินแห่งชาติของประเทศไทยได้ต่อไป

“การบินไทยจะไม่มีการแฮร์คัทเจ้าหนี้ แต่จะจ่ายเงินต้น เป็นลักษณะการผ่อนจ่าย โดยการบินไทยจะไม่ขอจ่ายลูกหนี้ใน 3 ปีแรก เพราะมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด แต่จะเริ่มจ่ายเจ้าหนี้ในปีที่ 4 อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าจะได้รับความเห็นใจและเห็นชอบจากเจ้าหนี้ ส่วนกรณ๊ที่ว่ามูลหนี้ที่เสนอศาลฯอยู่ที่ 410,000 ล้านบาท แต่ทำไมการบินไทยแจ้งยอมรับหนี้ที่มีอยู่จริงดพียง 160,000-170,000 ล้านบาทนั้น เนื่องจากว่า เจ้าหนี้ได้มีการประเมิณหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 2-3ปี ซึ่งการบินไทยมองว่ายังเป็นหนี้ที่ยังไม่เกิดขึ้น”

นายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวต่อว่า ในแผนฟื้นฟูฯการบินไทยจะมีการลดรายจ่าย สร้างรายได้ในดำเนินการ ภายในบริษัททั้งหมด เช่น เพิ่มรายได้ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Flight Business) และ ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Flight Business) ส่วนการลดค่าใช้จ่าย คือ การปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งวางเป้าหมายที่จะปรับลดจำนวนพนักงานที่เป็นพนักงานสัญญาจ้าง (Outsource) พนักงานที่เกษียณหรือลาออก และพนักงานผู้เสียสละเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรในโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP A จากที่เหลืออยู่ 21,000 คน ลดลงอีก โดยในปี 64 จะมีพนักงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรในโครงการ MSP B และ MSP C อีกประมาณ 6,000 ถึง 7,000 คน ซึ่งจะทำให้มีพนักงานคงเหลือประมาณ 14,000 ถึง 15,000 คนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องของบุคคลากรของการบินไทยลดลงเหลือเพียง 13%เท่านั้น จากเดิมมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้กว่า 23%

นอกจากนั้นการบินไทยยังมีแผนในการลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของอุตสาหกรรมการบิน และความต้องการในการใช้เครื่องบิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงยังได้มีการเจรจากับบริษัทที่ให้เช่าเครื่องบิน ให้ลดค่าเช่า และจ่ายเงินการใช้งานตามใช้จริงของเครื่องบินซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลดลงในระยะยาวกว่า 40% อย่างไรก็ตามจากมาตรการลดต้นทุนต่างๆนั้น มั่นใจว่า จะทำให้การบินไทยมีเงินเหลือประมาณ 36,000 ล้านบาท และภายในปี 65 จะมีเงินเหลือจากต้นทุนกว่า 58,000 ล้านบาท ซึ่งจากปัจจัยต่างๆทำให้มีการประมาณการณ์ว่า การบินไทยจะกลับมาทำกำไรได้ในปี 66-67

นายชาย กล่าวต่อว่า แม้ว่าจะดำเนินการตามมาตรการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ก็ตาม การบินไทยก็ยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหาเงินทุนจากผู้ร่วมทุนใหม่ หรือ เงินกู้จำนวนกว่า 50,000 ล้านบาทมาเสริมสภาพคล่องภายใน 2 ปีนี้ โดยเบื้องต้นระยะเร่งด่วนภายในกลางปี 64 นี้การบินไทยจะต้องใช้เงินจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาทมาใช้ในการจัดการในบริษัท ทั้งเรื่องเงินเดือน และ เงินชดเชยพนักงานในส่วนต่างๆ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ในส่วนของผู้ร่วมทุนใหม่นั้นได้มีการเจราจาบ้างแล้ว แต่ขณะนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนการกู้เงินก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งของการดำเนินการ

นายนนท์ กลินทะ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ การบินไทย กล่าวว่า ในแผนฟื้นฟูฯการบินไทยจะเน้นการทำตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้า และความต้องการของผู้โดยสารเป็นหลัก เช่น ให้ผู้โดยสารสามารถเลือกความต้องการของที่นั่ง เลือกน้ำหนักการโหลดกระเป๋าได้ ขณะเดียวกันจะมีโปรโมชั่นราคาค่าโดยสารที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนั้นการทำตลากการบินจะเน้นโค้ดแชร์ร่วมกับสายการบินพันธมิตรมากขึ้นและในเดือน ก.ค.นี้การบินไทย จะกลับมาทำการบินในเชิงพาณิชย์ในเส้นทางบินต่างประเทศ ในเส้นทางยุโรป 5 จุดบินประกอบด้วย เส้นทางบิน ปารีส แฟรงเฟริ์ต โคเปนเฮเกน ลอนดอน ซูริก ส่วนภูมิภาคเอเซีย จะทำการบิน ญี่ปุ่น ในเส้นทางบิน โอซาก้า ฮาเนดะ นาโกย่า ,ส่วน เกาหลี ทำการบิน อินชอน,มะนิลา , จาร์การ์ต้า เป็นต้น