“ชัยวุฒิ” ย้ำกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาวุธสำคัญการแข่งขันเศรษฐกิจยุคใหม่

  • ขอให้คนกระทรวงดิจิทัลทั่วประเทศ
  • ช่วยชี้แจง PDPA
  • มุ่งคุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในการเปิดงานอบรม “PDPA ข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติสำหรับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งจัดขึ้นวันนี้ (24 มิ.ย.65) ว่า ความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศในเศรษฐกิจยุคใหม่  หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ ความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลในประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการข้อมูลระหว่างประเทศ ดังนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมที่เสริมสร้างให้เกิดความไว้วางใจในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และยกระดับมาตรฐานการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลให้ทัดเทียมระดับสากล จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ทั้งนี้ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่เริ่มการบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 65 ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลขององค์กร แต่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งแข่งได้กับนานาชาติ

“ขอให้คนกระทรวงดิจิทัลฯ ทั่วประเทศ ช่วยกันสร้างความเข้าใจ ชี้แจงกับประชาชนว่า PDPA มุ่งคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยทุกคน ทั้งเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ ประวัติ รสนิยมทางเพศ เป็นต้น โดยประชาชนยังใช้ชีวิตเหมือนปกติ ถ่ายรูป โพสต์รูป ติดคนอื่นได้ ไม่ต้องกังวล ตราบใดที่ไม่ไปสร้างความเสียหาย หรือ เอารูปคนอื่นไปหาผลประโยชน์” นายชัยวุฒิกล่าว 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน โดยเฉพาะกฎหมายฉบับนี้ มีทั้งโทษทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง มุ่งลงโทษอาชญากรและคนร้าย ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทางผู้เข้าร่วมอบรมต้องรู้ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง

โดยการดำเนินการเรื่อง PDPA เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่สำคัญแล้วเสร็จ 4 ฉบับเพื่อลดภาระสำหรับเอสเอ็มอี สร้างความชัดเจนในแนวทางปฎิบัติตามกฎหมาย ตลอดจนมีประกาศเรื่องโทษทางปกครอง ที่คำนึงถึงเจตนา และให้มีการไกล่เกลี่ย ตักเตือน เป็นต้น และคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายลำดับรองอีก  4 ฉบับที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ยังมีความเข้าใจผิดในบางกลุ่มว่า ภายหลังจากที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้แล้ว จะก่อให้เกิดอุปสรรคแก่องค์กรในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลตลอดจนสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป โดยในข้อเท็จจริงแล้ว PDPA มุ่งคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน สร้างประโยชน์กับคนไทยทุกคน เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า ข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และได้รับการดูแลมิให้มีการนำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิด

นอกจากนี้ PDPA ยังเป็นกฎหมายที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ในประเทศไทย จึงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง อันจะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยและหน่วยงานต่างๆ มีมาตรฐานการใช้ข้อมูลเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ บนเวทีโลกได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น

“กฎหมายนี้ มิได้ประสงค์จะขัดขวางการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล แต่กลับส่งเสริมให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นระบบ  PDPA กำหนดให้มีมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้องค์กรสามารถใช้ข้อมูลในทางที่ไม่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิ ในข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลมากจนเกินไป รวมถึงจะต้องรักษาความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลอยู่เสมอ”   นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ต้องการให้ PDPA เกิดประโยชน์กับประชาชน ในขณะเดียวกัน มุ่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายน้อยที่สุด สะท้อนการเริ่มบังคับใช้ในช่วงแรก และการอบรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จัดโดยกระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล   

โดยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 65 มีกฎหมายลำดับรองภายใต้ PDPA 4 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ประกอบด้วย 1. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง การยกเว้นการบันทึกรายการของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก พ.ศ. 2565 

2.ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำและเก็บรักษาบันทึกรายการของกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565

3. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 และ  4. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ พ.ศ. 2565