“ชัยวุฒิ”เตรียมถก ผู้ว่าฯ กทม.จัดระเบียบสายไฟทั่วกรุง 4 ก.ค.นี้

  • ขอกสทช.กำหนดผู้ให้บริการร่วมรับผิดชอบ
  • ชี้ปัญหาสายไฟสายสื่อสารรก
  • เพราะโครงสร้างในอดีต

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาสายไฟและสายสื่อสารรกรุงรังและก่อให้เกิดความรุนแรงของไฟไหม้ในพื้นที่ กทม. ว่า ล่าสุด ได้นัดหารือ กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. แล้วในวันที่ 4 ก.ค. นี้ เวลา 14.00น. ที่ อาคารโทรคมนาคม บางรัก มีการไฟฟ้านครหลวง และ กสทช. ร่วมด้วย

สำหรับประเด็นหลักๆ ที่มีการหารือ ก็จะเป็นแนวทางการจัดระเบียบสายไฟสายสื่อสาร กับแนวทางนำสายไฟสายสื่อสารลงดิน ซึ่งในส่วนของ กทม. รับผิดชอบทางเท้าการวางท่อร้อยสายไฟ บริเวณทางเท้า และที่ผ่านมา กทม.ก็มี โครงการสร้างท่อร้อยสายไฟแล้วบางส่วน

ส่วนการจัดระเบียบสายไฟสายสื่อสาร ในพื้นที่ ที่ไม่สามารถนำสายไฟสายสื่อสารลงดินได้ก็ต้องจัดระเบียบการวางสายตามเสาต่างๆ ให้มีความเรียบร้อยไม่เป็นอันตรายกับประชาชน โดยเฉพาะการรื้อเอาสายเก่าๆ ที่ไม่มีการใช้งานออก โดย กสทช. ที่มีบทบาทควบคุมกำกับดูแลผู้ให้บริการ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ต่างๆ ก็จะเข้ามาช่วยพูดคุยกับเอกชนผู้ให้บริการในการจัดระเบียบครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่อาจจะขอให้เอกชนร่วมรับผิดชอบบางส่วนด้วย เพราะที่ประเมินงบประมาณต้องใช้ทั้งหมดในนำสายสื่อสารลงใต้ดินต้องใช้งบถึง 2หมื่นล้าน จำเป็นต้องหารือ การใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงานด้วย

“ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้ทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่ เฉพาะ กรุงเทพมหานครเท่านั้น และตอนนี้มีการนำสายไฟลงใต้ดินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ หลังจากนี้ จะมีการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศเช่นกัน”

ส่วนปัญหาไฟไหม้ที่เกิดขึ้นตามสายสื่อวารที่รกรุงรังหลายแห่งช่วงนี้ นายชัยวุฒิมองว่าเป็นบทเรียนสำคัญ ที่สะท้อนถึงการทำไปข้างหน้าแต่ไม่ย้อนมองดูข้างหลัง โดยเฉพาะผู้ให้บริหารเก่าๆ ที่ปล่อยทิ้งสายเก่าสายตายที่ไม่ได้ใช้งานไว้และไม่เก็บออกไป เพราะห่วงเรื่องของค่าใช้จ่าย อีกทั้งการประกอบธุรกิจของแต่ละเจ้าก็ไม่มีการร่วมมือกัน ทั้งที่สายสื่อสารบางเส้นสามารถใช้ร่วมกันได้แต่กลับต่างคนต่างเดินสาย มีผู้ให้บริการ 10 รายก็เดินสาย10 เส้น

พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาสายสื่อสารที่เกิดไฟไหม้ด้วยว่าโดยหลักการ และสเป็กที่ถุกต้องของสายสื่อสารจะไม่ติดไฟ เพราะถูกออกแบบให้มีชบวนกันไฟอยู่แล้วป้องกันการเสียดสี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้รับเหมาบางรายใช้สายไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตรงตามสเป็กจำเป็นต้องตรวจสอบเอาสายประเภทนี้ออกด้วย

“ปัญหาทั้งหมดนี้จนทำให้ถูกต่างชาติมองว่าเป็นสัญลักษณ์ ของเมืองไทย นั้น นายชัยวุฒิยอมรับว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างในอดีต เพราะการเดินสายไฟผ่านเสาไฟเป็นสิ่งที่ประหยัดงบประมาณ ในยุคนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป สายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นวันนี้เมื่อประเทศเรามีเงินมากขึ้น ก็ถึงเวลาที่จะต้องค่อยๆ แก้ปัญหากันไป”