“ชวน” แถลง พระปกเกล้า เสนอ 2 โมเดลกรรมการสมานฉันท์ รับหารือ 3 อดีตนายกรัฐมนตรี

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แถลงถึงกรณีที่ได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า พิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ว่า สถาบันพระปกเกล้า ได้เสนอ 2 รูปแบบที่จะมีกรรมการ 7-9 คน คือ1. ผู้แทนจากฝ่ายต่าง ๆจากผลการประชุมของรัฐสภา ซึ่งแบ่งเป็น 3 ทางคือ คณะกรรมการ 7 ฝ่ายตามที่นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอ ซึ่ง จะเป็นบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจมาร่วม หรือ 7 ฝ่ายที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่ทุกคนยอมรับ หรือลดเหลือ 5 ฝ่าย โดยลดตัวแทนผู้ชุมนุม และผู้เห็นต่าง เพื่อลดการเผชิญหน้า ซึ่งสถาบันพระปกเกล้ามีข้อกังวลว่า หากมีตัวแทน 7 ฝ่าย อาจทำให้ รัฐบาลกลายเป็นเสียงข้างมากและไม่ได้รับความไว้วางใจ และมีโอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะไม่เข้าร่วมสูง หาตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าร่วมยาก

ประธานรัฐสภา กล่าวว่า รูปแบบที่ 2 คือ มีคนกลางตามที่แต่ละฝ่ายเสนอให้เข้ามาเป็นกรรมการ โดยการเสนอจากทุกฝ่าย หรือ ให้ประธานรัฐสภา ไปสรรหาบุคคล หรือ ประธานรัฐสภาตั้งประธานคณะกรรมการ และให้ประธานกรรมการไปคัดเลือกบุคคลเข้ามา ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า กรรมการที่จะไปทาบทามนั้น จะตอบรับเข้าร่วมหรือไม่ สถาบันพระปกเกล้ามองว่ามีข้อดีคือ รัฐสภาจะเป็นพื้นที่แก้ปัญหาสำคัญของชาติ ส่วนข้อกังวลนั้น คือ ประธานและกรรมการจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่

นายชวน กล่าวว่า จะนำทั้ง 2 รูปแบบ ไปพิจารณาว่า ในรูปแบบแรกจะสามารถดำเนินการหาบุคคลได้ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็จะนำรูปแบบที่ 1 มาผสมกับรูปแบบที่ 2 ซึ่งจะใช้จำนวนคนไม่มาก แต่จะต้องสามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้นอกจากนี้ได้มีการพูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรี 3 คน ซึ่งหลายคนสนับสนุนการตั้งกรรมการแต่ส่วนหนึ่งยังขอรอฟังความชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะเดินทางไปทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภามาช่วยทำหน้าที่ เพราะถือเป็นฝ่ายปฏิบัติ

ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสัญญาณในการประชุมรัฐสภาแล้ว จึงเชื่อว่า วุฒิสภาจะสนับสนุน เพื่อลดความกังวลในสังคม ส่วนเรื่องการชุมนุมที่รัฐบาลดูแลอยู่แล้วนั้น หากมีส่วนที่สภาสามารถไปช่วยบรรเทาได้ ก็พร้อมดำเนินการ โดยให้สถาบันพระปกเกล้า เชิญบุคคลที่ผ่านหลักสูตรการปรองดองในสังคม มาคุยกัน มาหารือกัน เพื่อลดความขัดแย้งรุนแรง การคุกคาม เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง อาทิ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยถึงทัศนะคติของนักศึกษา

นายชวน ยังเปิดเผยด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (3พ.ย.) จะคุยกับผู้นำฝ่ายค้านฯ และตัวแทนรัฐบาลเป็นการภายใน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการหารือ แม้จะไม่ได้เป็นตัวแทนกรรมการก็ตาม

ประธานรัฐสภา ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องที่ให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยถึงการปฏิรูปสถาบันฯ ว่า การพูดคุยสามารถตั้งธงได้ แต่จะต้องเป็นไปตามมติคณะกรรมการที่กำหนดว่า จะให้มีการหารือเรื่องสถาบันหรือไม่ แต่ไม่อยากให้นำสถาบันเข้ามาเป็นเงื่อนไข เพราะตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้