“ชวน” ชี้ความไม่สมานฉันท์ในบ้านเมืองเกิดจากฝ่ายการเมือง

  • แนะข้าราชการต้องไม่เกรงใจ ถึงขั้นยอมทำผิดจนตัวต้องติดคุก
  • เตือน ส.ส.ต้องดูแลประชาชน ไม่ทิ้งหน้าที่หลัก
  • ยกตัวอย่างรัฐบาล คสช.ไม่เลือกปฏิบัติ ซ่อมถนนภาคใต้

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นวิทยากรบรรยายหลักสูตรนักบริหารนักการเมืองและเศรษฐกิจรุ่นใหม่รับใช้สังคม (นศส.) รุ่นที่ 1 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตอนหนึ่งว่า หลักสูตรนี้มีประโยชน์โและสำคัญต่อประเทศไทย สนองต่อยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ลดความเลื่อมล้ำของสังคม สร้างความสมานฉันท์ เรียนรู้เข้าใจปัญหา มีวินัย 

นายชวน กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ คนรุ่นเก่าต้องคอยส่งเสริมความรู้ให้คนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ สังคมไทยนอกจากหลักธรรมาภิบาล 6 ข้อแล้ว ต้องเพิ่มอีกหนึ่งคือความไม่เกรงใจเข้าไปด้วย เพราะในปัจจุบันทุกอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมที่ข้าราชการ หรือนักการเมืองน้ำดีต้องติดคุก เพราะเกรงใจผู้ใหญ่จนต้องทำผิดบางประการ

นายชวน กล่าวว่า บทบาทของนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญแบ่งเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการคือศาล ที่เป็นองค์กรทำให้บ้านเมืองมีความหวัง เมื่อผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ถูกก็ต้องว่าถูก ถ้าศาลไม่แน่วแน่บนความถูกต้อง บ้านเมืองจะว้าเหว่ ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ โดยมีองค์กรอิสระ 7-8 องค์กร และฝ่ายค้านสามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ซึ่งรัฐบาลก็คงจะรอดเพราะคุมเสียงข้างมากในสภา”  

“การเลือกตั้งมีความสำคัญกับประชาธิปไตย เพราะมีตัวแทนมาจากประชาชนในพื้นที่เข้าถึงปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นขอให้เข้าใจว่าผู้แทนที่จะต้องเข้างานสังคม งานวันเด็ก งานศพ ร่วมเป็นประธานงานต่าง ๆ แต่อาจมีผู้ไม่เข้าใจ จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เห็น  อย่างผมไปงานศพ ไปทุกงานแม้กระทั่งแข่งนกกรงหัวจุกก็ต้องไป เพราะเขาเชิญมา แต่ต้องบริหารเวลาให้เป็น ไม่กระทบต่องานหลัก ดังนั้น ผู้แทนต้องดูที่ชีวิตจริง อย่าไปสนใจข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้แทนตลาดล่าง เพราะผู้แทนมาจากประชาชน จึงต้องทำงานใหัประชาชนด้วย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าว

นายชวน กล่าวถึงปัญหาความไม่สมานฉันท์ ว่า เกิดจากความผิดพลาดในการปฏิบัติของฝ่ายการเมือง และที่ผ่านมามีบางรัฐบาลเลือกปฎิบัติ เลือกพัฒนาจังหวัดที่เลือกเขาเข้ามา แล้วความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร  ทุกคนก็มีหัวใจ ยกตัวอย่างถนนในภาคใต้ทรุดโทรมมาก  ซึ่งตนได้ต่อสู้มาตลอดเพื่อให้ได้รับการซ่อมแซ่ม 

“ผมเคยสอบถามอธิบดีกรมทางหลวงได้คำตอบว่าทำไม่ได้ เพราะถ้าทำจะโดนย้าย แต่มาดีขึ้นในยุครัฐบาลคสช. ที่ผมทำหนังสือไปสอบถามและต่อมาได้รับงบประมาณมาปรับปรุง ดังนั้นเรื่องการสร้างความสามานฉันท์ฝ่ายการเมืองจะต้องยึดหลักนิติธรรม ต้องไม่เอาใจใครมากจนเสียหลัก และต้องไม่เอาใจประชาชนจนเกิดเหตุทำให้สังคมอ่อนแอ”

นายชวน กล่าวว่า ตนมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่เคยย่อท้อในการดูแลคน 500 คน พยายามที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น รวมถึงการสร้างวินัยในที่ประชุมสภามีการกำหนดเวลาหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้ส.ส.คนอื่นได้พูดบ้าง  หากสังคมไทยมีวินัยเชื่อว่าจะไม่แพ้ชาติใดในอาเซียน จึงต้องทำให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ