ชลประทาน เดินหน้าลดยอดน้ำพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำท่าจีน เร่งระบายน้ำท่วมสุพรรณฯ-นครปฐม

  • “ทุ่งเจ้าเจ็ด -ทุ่งโพธิ์พระยา”รับน้ำเต็มศักยภาพแล้ว
  • เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด
  • ลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน เนื่องจากเกิดฝนตกหนักเขตจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี รวม 9 อำเภอ ได้แก่ อ.สามชุก อ.เมือง  อ.บางปลาม้า  อ.เดิมบางนางบวช อ.สองพี่น้อง อ.ดอนเจดีย์  อ.อู่ทอง อ.ศรีประจันต์ อ.หนองหญ้าไซ และในเขตจังหวัดนครปฐม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บางเลน อ.นครชัยศรี อ.สามพราน

“กรมชลประทาน ได้ลดยอดปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำท่าจีน โดยลดการรับน้ำผ่านประตูระบายน้ำ(ปตร.) พลเทพ เหลือ 60 ลบ.ม./วินาที และจะทยอยลดตามลำดับ พร้อมกันนี้ได้ใช้คลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน ดังนี้ ฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง และคลองมะขามเฒ่า-กระเสียว ด้านฝั่งตะวันออกรับน้ำเข้าพื้นที่ชัยนาท-ป่าสัก ผ่าน ปตร.มโนรมย์ และรับน้ำเข้าคลองชัยนาท-อยุธยา ผ่าน ปตร.มหาราช” 

นอกจากนี้ ยังได้ตัดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่แม่น้ำท่าจีน เข้าไปไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโพธิ์พระยา ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 ทุ่งรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพแล้ว พร้อมกันนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนตามจุดต่างๆ รวม 79 เครื่อง โดยจะเร่งติดตั้งเพิ่มเติมให้ครบตามแผนที่วางไว้ทั้งหมด 111 เรื่อง รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีก 34 เครื่อง พื้นที่ จ.สุพรรณบุรี 16 เครื่อง และจ.นครปฐม 18 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุดต่อไป 

“ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน บริหารจัดการน้ำตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้สอดคล้องกันและเหมาะสมกับสถานการณ์ พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทานและคันกั้นน้ำให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ให้เพียงพอต่อการใช้งาน สามารถช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้อย่างทันที ลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด”