ฉลุย…วุฒิสภาเห็นชอบพ.ร.บ.งบประมาณ 64 เป็นเอกฉันท์ วงเงิน 3.285 ล้านล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานจากการประชุมวุฒิสภาวันนี้ (21 ก.ย.) ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานุวฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงินงบประมาณ 3,285,000 ล้านบาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรผ่านความเห็นชอบวาระ 3 แล้ว โดยปรับลดงบประมาณลงกว่า 31,000 ล้านบาท

โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้แทนรัฐบาล ชี้แจงว่า การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลยึดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการบูรณาการทุกมิติและเพื่อเป็นกรอบในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้อง เกิดความคุ้มค่าและไม่ซ้ำซ้อน ให้การขับเคลื่อนการดำเนินการของรัฐบาลเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่รัฐบาลกำหนดไว้

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน วางรากฐานของประเทศสู่อนาคต พร้อมส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพด้านการคลัง โดยการจัดสรรงบไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจด้านบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องกับแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วุฒิสภา กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด -19 เป็นภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณจึงคำนึงถึงการฟื้นฟูภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่จะต้องปรับตัวบนพื้นฐานการดำรงชีวิตใหม่ ภายใต้หลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสำคัญ

ขณะที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. อภิปรายงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์แบบ งบประมาณ กรมกิจการผู้สูงอายุ 192 ล้านบาท ดูแลผู้สูงอายุ 13 ล้านคน ต้องดึงศักยภาพผู้สูงอายุในแต่ละชุมชนเพื่อมาดูแลกันเอง ส่วนงบประมาณสภาเด็กและเยาวชน 220 ล้านบาท แต่ส.ส.ตัดงบประมาณออกไป 41 ล้านบาท ซึ่งคิดว่าจะทำให้เงินไม่พอจ่ายในการทำงาน เพราะที่ตั้งอยู่ก็มีไม่พออยู่แล้ว หวังว่าจะนำงบกลางมาชดเชย ไม่เช่นนั้นจะพัฒนาเด็กได้อย่างไร ส.ว.แก้งบประมาณไม่ได้ แต่ตั้งข้อสังเกตได้และเชื่อว่าเสียงส.ว.ดังพอ

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. อภิปรายเรื่องประชากรกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ว่าปัจจุบันเกิดวิกฤติเด็กเกิดน้อย แต่คนแก่แก่นาน กองทุนเลี้ยงชีพผู้สูงอายุและชมรมผู้สูงอายุที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจึงเป็นประโยชน์ ขณะที่หน่วยงานตอบสนองช้าและไม่ทันการณ์ กระทรวงสาธารณสุขมีงบผู้สูงอายุที่ซ่อนอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่ไม่สะท้อนต่อการแก้ปัญหา สิ่งที่ตนอยากเห็นในปีงบประมาณ 2565 คือ อยากให้ตั้งงบประมาณบูรณาการของผู้สูงอายุด้วย เนื่องจากงบประมาณของผู้สูงอายุซ่อนอยู่ในกระทรวงต่างๆ แต่เมื่อไม่บูรณาการก็จะเกิดความซ้ำซ้อน

ส่วนนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายถึงข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เรื่องการให้ความรู้เรื่องการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัล ว่า เนื่องจากความเป็นอยู่ ภาระหนี้สินของประชาชนกำลังเป็นปัญหาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 การเงินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้ารัฐจัดการอบรมด้านนี้ จะทำให้ประชาชนรู้จักกันออม การปันเงิน หรือแบ่งสันปันส่วนอย่างไร สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐปล่อยปะละเลย ประเด็นต่อมาคือการชดใช้ทางแพ่งตามคำพิพากษาของศาลและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ กรมบังคับคดีควรเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการบังคับคดีประเภทต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเงินจากการบังคับคดีเป็นจำนวนมาก แต่ปล่อยปละละเลย เช่น คดีจำนำข้าว ศาลพิพากษาต้องได้เงินหลายหมื่นล้าน แต่ยังไม่ไปถึงไหน รวมทั้งคดีสำคัญ เช่น คดีคลองด่าน แต่ละเลย ทั้งที่เงินเหล่านี้ได้มาจะเป็นเงินสำคัญที่เอามาใช้สอยได้

“ส่วนงบประมาณเพื่อการปฏิรูปประเทศ ตามหมวด 16 ที่ต้องการให้ประเทศชาติมีความสงบสุข ปรองดอง ขจัดความเหลื่อมล้ำ เห็นว่าเป้าหมายการปฏิรูปประเทศเขียนไว้ดี แม้โควิดมาหลายอย่างจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่งบประมาณที่จะทำเรื่องนี้ไม่ได้มีตรง ๆ กลับไปซ่อนไว้ตรงโน้นตรงนี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าจะปฏิรูปชัดเจน เช่น การปฏิรูปการเมืองที่มีเป้าหมายให้ประชาธิปไตยมั่นคงและการเลือกตั้งสุจริต หรือแม้กระทั่งการปราบปรามการทุจริตก็จัดอยู่ในงบประมาณกระต่างๆ เหมือนที่จัดไว้ตามธรรมดาทุกปี ไม่ได้มีลักษณะในการปฏิรูปทางการเมือง” นายวันชัย กล่าว

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.อภิปรายงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าการเลือกตั้งเป็นหัวใจของการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่การจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน้อยกว่าทุกปี ขณะเดียวกันรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องถูกหักไปจากการบริการสาธารณะด้านการศึกษาและด้านสังคมไปอีก 17.88% เหลือเพียง 24.23% ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดให้มีรายได้ 25% แต่ตนก็ชื่นชมรัฐบาลที่จัดสรรเงินกลับมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10,650 ล้านบาท หลังจากถูกส.ส.ตัดงบประมาณจากวาระที่ 2 ซึ่งจะบรรเทาการขาดงบประมาณได้ระดับหนึ่ง

“ตามมาตรา 33 การจัดสรรงบประมาณให้เทศบาลเมือง เทศบาลนคร เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร รวม 224 หน่วยงาน ได้รับผลกระทบมาก แต่กลับถูกตัดจนงบประมาณลดลง 1,796 ล้านบาท ซึ่งผมมีข้อเสนอให้ปรับปรุงรายได้ของอปท.โดยเสริมสร้างรายได้และโครงสร้างภาษี หาแนวทางการเพิ่มรายได้ แบ่งภาษีที่รัฐบาลเก็บได้ให้ อปท. และถ้าลดหย่อนภาษีให้ประชาชนก็ควรนำเงินกู้ไปชดเชยให้กับ อปท. ควรเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นรัฐกระจายอำนาจ และเชื่อมั่นในศักยภาพของอปท. ผมไม่อยากเชื่ออย่างที่นักการเมืองหลายคนพูดว่ารัฐบาลบอนไซอปท.” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

ด้านนายออน กาจกระโทก ส.ว. อภิปรายงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการถูกตัดออกไปตั้งแต่ปี 2563-2564 รวมกว่าหมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับงบประมาณอปท. ที่ไม่ถึง 25% ตามกฎหมาย ก็นำเงินอาหารเสริมนมกับอาหารกลางวันของกระทรวงศึกษาไปเติมให้อปท. เพื่อเป็นทางผ่านไปให้โรงเรียน แล้วเวลาเปิดเทอมครูก็ต้องไปหาเงินสำรองหรือเซ็นค่าวัตถุดิบทำกับข้าวให้นักเรียน ขอตั้งคำถาม ว่าทำไมไม่เอาเงินก้อนนี้ไปที่กระทรวงศึกษาธิการแล้วโอนเงินไปให้โรงเรียนโดยตรงเลย ขณะเดียวกันการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในช่วงโควิด ต้องจัดหาสื่อและอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ให้โรงเรียนที่ห่างไกล

จากนั้น ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเอกฉันท์ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ด้วยเสียง 217 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง หลังจากใช้เวลาอภิปรายนาน 6 ชั่วโมง 30 นาที โดยนายสุพัฒนพงษ์ ได้กล่าวขอบคุณและยืนยันว่าจะนำข้อสังเกตไปพิจารณาประกอบการใช้งบประมาณ โดยจะใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามนโยบาย ประชาชนมั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งหลังจากนี้นายกรัฐมนตรีจะนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วันนับแต่วันที่ได้รับร่าง เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมายต่อไป