จ่อส่งหนังสือถึง”ซีพี”บีบมาลงนามไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน 15ตุลานี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (30 ก.ย.) ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้รายงานให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับทราบว่า ขณะนี้การเจรจาระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ได้เสร็จสมบูรณ์ตามเอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP) แล้ว

ทั้งนี้จากความคืบหน้าดังกล่าว ที่ประชุม กพอ. จึงเห็นชอบให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ส่งหนังสือเรื่อง “กำหนดวันลงนามในสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” เพื่อเชิญ CPH มาลงนามสัญญาในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะส่งหนังสือฉบับดังกล่าวภายในวันนี้หรือเร็วๆ นี้

สำหรับข้อความในฉบับหนังสือดังกล่าวระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ครั้งที่ 22/2562 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาเห็นแล้วว่า เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเจรจากับ CPH เรื่อยมานับแต่ CPH ได้เป็นผู้ได้รับคัดเลือก จนกระทั่งจะครบกำหนดอายุข้อเสนอของ CPHแต่ CPH ยังไม่ยินยอมรับเงื่อนไขที่จะระบุไว้ในร่างเอกสารแนบท้ายฯ หมายเลข 6และหมายเลข 12 ทั้งที่เป็นเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ใน RFP

โดยทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงเห็นว่าเพื่อมิให้ โครงการฯ เกิดความล่าช้าอันจะมีผลกระทบกับโครงการอื่นๆ ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อันอาจก่อให้เกิดความเสียหาย คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีมติให้ดำเนินการตามกรอบของ RFP “อย่างเคร่งครัด”
โดยได้กำหนดรายละเอียดของร่างเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมทุน (PPP) หมายเลข 6 แผนการส่งมอบพื้นที่ของโครงการฯ และร่างเอกสารแนบท้ายสัญญา PPP หมายเลข 12 ข้อกำหนดเรื่องดัชนีชี้วัด ให้เป็นไปตามร่างสัญญาหลักของโครงการฯ และ RFP

“คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีมติให้ CPH มาลงนามในร่างสัญญา PPP โครงการในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้องปฏิบัติการ ชั้น 3 ตึกบัญชาการ การรถไฟฯ โดยหาก CPH ไม่มาลงนามสัญญา PPP กับการรถไฟฯ ในวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกฯ ถือว่า CPH เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้รับคัดเลือก แต่ไม่ไปทำสัญญา PPP ภายในเวลาที่กำหนด ดังนั้นการรถไฟฯ จะใช้สิทธิตามที่กำหนดไว้ในข้อ 56 ของ RFP ริบหลักประกันซองวงเงิน 2,000 ล้านบาท หรือเรียกร้องจากผู้ออกหลักประกันซอง และเรียกร้องค่าเสียหายจาก CPH ถ้ามี รวมทั้งจะพิจารณาให้ผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการต่อไป” นายศักดิ์สยามกล่าว

ทั้งนี้เมื่อมีสอบถามว่าการดำเนินการครั้งนี้เสี่ยงต่อการถูก CPH ฟ้องร้องหรือไม่ นายศักดิ์สยามตอบว่า ทางอัยการสูงสุดก็ช่วยดูเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ คิดกันเอง ก็ดูกันหมด ตอนนี้มันเจรจาหมดแล้ว เรื่องนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และภาครัฐเดินตามกรอบ RFP แต่ถ้าผู้รับจ้างมองว่ามีปัญหาก็ใช้สิทธิ์ตามกฎหมายได้ พร้อมมองว่าเวลาที่เหลืออีก 15 วันเพียงพอต่อการลงนามสัญญา เพราะทั้ง 2 ฝ่ายก็ต้องเตรียมตัวกันอยู่แล้ว ไม่ควรอ้างว่าเตรียมตัวไม่ทัน ถ้าไม่ทันก็ต้องเชิญผู้เสนอราคารายที่ 2 มาเจรจาต่อ

นอกจากนี้ กพอ. เห็นชอบให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ดำเนินการตามผลการเจรจาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ดังนี้ 5.1.1 กำหนดให้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เร็วที่สุดด้วยความเห็นชอบทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนนับเวลาการดำเนินโครงการ ซึ่งก็การออกหนังสือให้เอกชนเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (Notice to Proceed: NTP) ภายใน 1 ปีนับจากวันลงนามสัญญา . 5.1.2 ให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสมและไม่ให้เป็นปัญหาต่อระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่โครงการ
, 5.1.3 ในกรณีที่ส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่ากำหนด ให้มีการชดเชยเอกชนคู่สัญญาด้วยการขยายระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง โดยไม่มีการชดเชยเงินค่าเสียหายให้กับเอกชนคู่สัญญา

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ทั้อย่างไรก็ตามในเอกสารแนบท้ายสัญญาระบุว่า การรถไฟฯ จะต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนอย่างน้อย 50% ของพื้นที่ทั้งหมด ภายใน 1 ปี ซึ่งตรงตามข้อกำหนดใน RFP แต่ในแผนการส่งมอบพื้นที่คาดว่า การรถไฟฯ จะสามารถส่งมอบพื้นที่ล็อตแรกได้ถึง 70%

“ถ้าการส่งมอบพื้นที่ไม่เสร็จจริงๆ ดำเนินการแล้วขัดข้องจริงๆ ก็จะใช้วิธีขยายเวลา อันนี้ผมคิดว่าถ้าเรากำกับดูแลกันจริงๆ ก็น่าจะเรียบร้อย เพราะว่าพื้นที่ 70% ที่มอบให้ เขาสามารถเสนอแผนในการก่อสร้างได้”