“จุรินทร์” นัดถก “พีต้า” 8ก.ค.นี้เคลียร์ปมลิงเก็บมะพร้าว

  • หวังสร้างความเข้าใจยันอุตสาหกรรมไทยไม่ได้ใช้ลิงแล้ว
  • พร้อมจูงมือทูตประเทศต่างๆ ในไทยชมขั้นตอนผลิตมะพร้าว
  • ย้ำปัญหานี้เคยชี้แจงหลายครั้งแต่ยังกลับมาเป็นประเด็นอีก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ห้างซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษหลายแห่งสั่งเก็บผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทยออกจากชั้นวาง เพื่อประท้วงตามการรณรงค์ของกลุ่มประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีคุณธรรม (พีต้า) ออกแถลงการณ์ระบุว่า ไทยใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวว่า ปัญหาที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ คือ มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกิดขึ้นว่าประเทศไทยใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว ซึ่งเรื่องนี้เคยปรากฏเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ สุดท้ายก็ชี้แจงทำความเข้าใจไปแล้ว แต่ก็เกิดเรื่องซ้ำขึ้นมาอีก ได้เคยหารือกับผู้ประกอบการแปรรูปกะทิ และผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยได้รับการชี้แจงในประเด็นนี้มาแล้วครั้งหนึ่งว่า การใช้ลิงเก็บมะพร้าว เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการท่องเที่ยวมากกว่า แต่สำหรับการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม เกือบจะเรียกได้ว่า ไม่มีปรากฎแล้ว

“การใช้ลิงเก็บมะพร้าว เพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยว เป็นวิถีชีวิต ที่อาจจะยังปรากฏในคลิปตามที่พีต้าได้นำมาเผยแพร่ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด และความเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม วันที่ 8 ก.ค.นี้ ผมได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญผู้ผลิตกะทิ และผู้แปรรูปมะพร้าวมาหารือกัน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหาแนวทางชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศผู้นำเข้า ที่ยังสงสัยอยู่รวมทั้งในองค์การพิทักษ์สัตว์ที่ต้องการข้อมูล”

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเชิญทูตของประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ในไทย ที่ยังมีข้อสงสัยไปดูการผลิตและการเก็บมะพร้าวของภาคอุตสาหกรรมของจริง เพื่อให้เห็นภาพว่าเป็นอย่างไร จะได้ไม่เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอีก อย่างไรก็ตาม จากการเดินทางไปเจรจาการค้าในหลายประเทศ และมีโอกาสเยี่ยมชมซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า กะทิจากไทยร วมทั้งผลิตภัณฑ์มะพร้าว และนำรายได้เข้าประเทศได้มาก สำหรับกรณีที่ห้างซูเปอร์มาร์เก็ตของอังกฤษ เก็บผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไมบออกจากชั้นวางนั้น คาดว่า จะมีเพียงประมาณ 30% ของห้างเท่านั้นที่เรียกเก็บออกจากชั้นวาง หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 300 ล้านบาท จากยอดส่งออกกะทิของไทยในปี 62 ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่อีก 70% ไม่น่าได้รับผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่เป็นร้านค้าของชาวเอเชีย ที่เข้าใจดี

ทั้งนี้ ในปี 62 ไทยมีผลผลิตมะพร้าวประมาณ 788,000 ตัน มีโรงงานแปรรูป 15 แห่ง สามารถผลิตกะทิได้ 113,000 ตัน ในจำนวนนี้ 70% เป็นการบริโภคภายในประเทศ ที่เหลือส่งออก สินค้าส่งออกสำคัญ คือ กะทิ และมะพร้าวอ่อน สำหรับกะทิปี 62 ส่งออกได้ประมาณ 12,300 ล้านบาท โดยส่งออกไปสหภาพยุโรป 18% มูลค่า 2,250 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ส่งออกไปอังกฤษ 8% มูลค่า 1,000 ล้านบาท