“จุรินทร์”ยันผู้นำ16ชาติ”อาร์เซ็ป”ประกาศผลสำเร็จเจรจาพ.ย.นี้แน่

  • ล่าสุดเหลือประเด็นติดค้างที่ต้องเร่งดันให้จบอีกเล็กน้อย
  • มั่นใจวงเจรจาคุยจบก่อนเส้นตายในสิ้นปีนี้แน่นอน
  • ย้ำอาร์เซ็ปตลาดการค้าใหญ่เกือบ30% ของการค้าโลก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 12 ต.ค.62 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งตนเป็นประธานว่า รัฐมนตรีอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยืนยันที่จะสรุปผลการเจรจาทั้งหมดให้ได้ในปีนี้ โดยขณะนี้ เหลือเวลาอีกไม่ถึง 20 วันก่อนการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของผู้นำทั้ง 16 ชาติ ที่ไทยวันที่ 4 พ.ย.นี้โดยสมาชิกทุกประเทศพร้อมประกาศความสำเร็จการเจรจาในช่วงการประชุมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเหลือการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อีก 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 14 – 19 ต.ค.นี้ ที่กรุงเทพฯ และการประชุมระดับรัฐมนตรีอีก 1 ครั้งในวันที่ 1 พ.ย.62 โดยการประชุมระดับเจ้าหน้าที่จะนำเรื่องที่ยังค้างอยู่ มาเร่งเจรจาให้จบตามเป้าหมายในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนเสนอให้ผู้นำประกาศผลสำเร็จการเจรจา ล่าสุด มีเรื่องที่ยังเจรจาไม่จบเหลืออีก 6 เรื่องเท่านั้น คือ การเยียวยาทางการค้า การแข่งขัน การค้าบริการ กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การลงทุน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จากทั้งหมดที่สามชิกต้องเจรจาต่อรอง 20 เรื่อง และ 3 ภาคผนวกภายใต้บทการค้าบริการ ส่วนอีก 14 เรื่องที่จบแล้ว เช่น บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป การค้าสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น การระงับข้อพิพาท บทบัญญัติสุดท้าย การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา เป็นต้น

“ถ้าอาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ จะครอบคลุมตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) กว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 32.3% ของจีดีพี โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านเหรียญฯ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก นอกจากนี้ อาร์เซ็ปจะช่วยลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ประสานกฎระเบียบและมาตรการทางการค้า ส่งผลให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่างๆ ระหว่างกัน และสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้า และการลงทุนภายในภูมิภาค”