“จุรินทร์”ชี้ส่งออกไทยเผชิญมาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น

.เหตุมหาอำนาจแห่ใช้มากขึ้นสร้างความได้เปรียบการค้า

.แนะภาครัฐ-เอกชนจับตามใกล้ชิดและปรับตัวรับมือให้ทัน

.ยันส่งออกปีนี้ทะยานหลัง 7 เดือนโต 4 เท่าของเป้าหมาย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกของไทยว่า การส่งออกต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอย่างรุนแรง และเข้มข้นขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นมาตรการของประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า อีกทั้งประเทศมหาอำนาจยังจับกลุ่มกันเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเช่นเดียวกับการเมือง เพื่อสร้างแต้มต่อ จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐ และภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันติดตามสถานการณ์ และหาแนวทางปรับตัว เพื่อให้พร้อมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

สำหรับมาตรการกีดกันทางการค้า ที่ใช้แล้ว เช่น แรงงาน สิทธิมนุษยชน สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และที่มาใหม่คือ การเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ซึ่งสหภาพยุโรปกำลังจะนำมาใช้ในอีก 2 ปีกับ 5 สินค้าก่อน คือ เหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และปุ๋ย 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย จับมือกันตั้งไตรภาคีเพื่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก และจีนประกาศสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภูมิภาคแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) อาจทำให้จีนต้องปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ และมาตรฐานการค้า ซึ่งจะกระทบต่อการการส่งออกของไทยไปจีน เพราะจีนเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทย  

“ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เป็นประเด็นใหญ่ที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยต้องจับมือ ติดตาม วิเคราะห์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบว่า เราจะต้องยืนอยู่ที่ไหน กำหนดท่าทีอย่างไร และจะสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศอย่างไร รวมถึงต้องศึกษาข้อตกลง กติกาการค้าโลกที่มี ให้ใกล้ชิด ลงลึก เพื่อเตรียมการปรับตัว และแสวงหาแต้มต่อทางการค้า” 

สำหรับปัญหาของการส่งออกของไทยในปีนี้ เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ขาดแคลนเรือขนส่งสินค้า การปิดด่านการค้า เป็นต้น กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับภาคเอกชน ในนามคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.พาณิชย์) แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้ให้เซลส์แมนจังหวัด (พาณิชย์จังหวัด) และเซลส์แมนประเทศ (ทูตพาณิชย์) ช่วยกันหาตลาดให้กับสินค้าไทย รวมถึงอัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก ส่งผลให้มูลค่าส่งออกดีขึ้น และล่าสุด ช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.)สูงถึง 154,985 ล้านหรียญฯ ขยายตัว 16.20% หรือ 4 เท่าของเป้าหมายขายตัวปีนี้ที่ 4% แล้ว  

“คาดว่า มูลค่าเดือนส.ค. และก.ย. ขยายตัวในอัตราชะลอลง จากการที่โรงงานปิดการผลิตชั่วคราว เพราะแรงงานติดเชื้อโควิด แต่ทั้งปี จะขยายตัวเป็นบวกแน่นอน และบวกเกินกว่าเดือนละ 700,000 ล้านบาท ดังนั้น การส่งออกยังคงเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป”

ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ การส่งออกยังคงโตได้ต่อเนื่อง และทั้งปี จะขยายตัวจะเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยมีสินค้า 5 กลุ่มที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ได้แก่ 1.สินค้าที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักร 2.สินค้าที่เปลี่ยนตามนวัตกรรมที่สูงขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น 3.สินค้าในห่วงโซ่ที่สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น 4.สินค้าในวัฎจักรการขยายตัว เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องเทศและสมุนไพร อาหารกระป๋อง 5.สินค้าที่เกี่ยวงเนื่องกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น