“จุรินทร์”จีบ “ญี่ปุ่น” เพิ่มลงทุนด้านนวัตกรรมในไทย

  • ให้ช่วยดูแลนักลงทุนในญี่ปุ่นชองไทยมากกว่า 30 ราย
  • ชี้จะใช้สิทธิประโยชน์ RCEPให้มากขึ้น
  • ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้ารในกลุ่มประเทศ RCEP

เมื่อเวลา 18.30 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคมนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการหารือทวิภาคี กับนายฮากิอูดะ โคอิจิรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ชั้น 22 โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในปี 2564 มีมูลค่ารวม 60,670 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.123 ล้านล้านบาท ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับ 2 ของไทย รองจากจีน โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 24,985 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2563 สินค้าไทยส่งออก เช่น รถยนต์ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ส่วนการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย ถือว่าญี่ปุ่นลงทุนมากเป็นอันดับที่ 1 หรือกว่า 6,000 บริษัท

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในการหารือได้หยิบยก 3 ประเด็น ได้แก่

1.รัฐมนตรีญี่ปุ่นแจ้งให้ทราบเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนระหว่างเอเชียกับญี่ปุ่นเพื่ออนาคต (นโยบาย Japan Investing for the Future) เป็นนโยบายที่ญี่ปุ่นต้องการเข้ามาร่วมลงทุนกับภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้น ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ญี่ปุ่นต้องการเข้ามาลงทุนร่วมกับประเทศในเอเชีย โดยเน้นการลงทุนที่ใช้นวัตกรรม ซึ่งตนได้เรียนให้รัฐมนตรีญี่ปุ่นรับทราบว่าไทยมีความประสงค์ ต้องการให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น แม้จะลงทุนเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว รวมทั้งมาร่วมทุนกับนักลงทุนไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ขอให้ช่วยดูแลนักลงทุนไทยสำคัญๆ ที่ไปลงทุนในญี่ปุ่น ซึ่งมีมากกว่า 30 ราย

2.ผลบังคับใช้อาร์เซ็ป (RCEP) ต้องถือว่าในช่วงที่ตนเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP จนทำให้ RCEP ประสบความสำเร็จ นำไปสู่การบังคับใช้ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุน และทางญี่ปุ่นแจ้งว่า ผลของ RCEP ทำให้ญี่ปุ่นสามารถส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และอาหารสำเร็จรูป โดยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ RCEP ได้มาก ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก RCEP ได้ในหลายสินค้า เช่น อาหาร สิ่งทอ เป็นต้นโดยเฉพาะอาหารและสิ่งทอที่ไทยส่งไปญี่ปุ่นและได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งเห็นพ้องกันทั้งสองประเทศ ว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ RCEPให้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในกลุ่มประเทศ RCEP 15 ประเทศ

และ 3. ประเด็นอินโด-แปซิฟิก ญี่ปุ่นแสดงความยินดีที่ไทยได้แจ้งความจำนงเข้าร่วมนับหนึ่งการเจรจา กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกต่อไปในอนาคต