จี้รัฐชะลอเก็บภาษีทุ่มตลาดเหล็กกระป๋อง 18 เดือน

.หวั่นต้นทุนอาหารกระป๋องพุ่งต้องขึ้นราคาขาย
.จ่อซ้ำเติมผู้บริโภคระทมทุกข์จากโควิด-19
.เกษตรกร-ชาวประมงผู้ผลิตต้นน้ำรับเคราะห์ตาม

นายพจน์  อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์เปิดไต่สวนการทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก (ทินเพลต) และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม (ทินฟรี) ที่ใช้ทำกระป๋องบรรจุอาหารว่า ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิก เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมบรรจุภัณฑ์โลหะไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย เป็นต้น ว่า หากกระทรวงพาณิชย์เก็บภาษีเอดีกับทั้ง 2 สินค้า จะทำให้ต้นทุนการผลิตของอาหารกระป๋องสูงขึ้นไปอีก และหากผู้ผลิตอาหารกระป๋องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว อาจปรับขึ้นราคาขายอาหารกระป๋อง และอาจกระทบต่อผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทินเพลต และทินฟรี ราคาขึ้นรุนแรงกว่า 80% ต่อเนื่อง 5 ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาส 4/63 จนถึงไตรมาส 4/64 ตามราคาเหล็กแผ่นในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ราคากระป๋อง และฝาต้องขยับขึ้นตามราว 50% กระทบต่อต้นทุนอาหารกระป๋องในกลุ่มอาหารทะเลเพิ่มขึ้นราว 15-25% และกลุ่มผักผลไม้เพิ่มขึ้นราว 30-50% ขณะที่การส่งออกชะลอตัว ได้รับผลกระทบจากการขนส่งสินค้าทางเรือ โดยเฉพาะค่าระวางเรือที่ยังมีราคาสูงขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก จากมาตรการดูแล ป้องกันโควิดตามที่ภาครัฐกำหนด

ขณะเดียวกัน ไทยมีความต้องการใช้เหล็กทำกระป๋องสูงมากราวปีละ 600,000 ตัน แต่ผู้ผลิตในไทย ที่มีเพียง 2 ราย มีความสามารถผลิตรวมกันไม่ถึง 50% ของความต้องการใช้ ส่งผลให้ผู้ผลิตกระป๋องต้องนำเข้าแผ่นเหล็กทินเพลทและทินฟรี แต่ผู้ผลิตในประเทศทั้ง 2 รายกลับยื่นคำร้องขอให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เก็บภาษีเอดีกับสินค้านำเข้าทั้ง 2 รายการ โดยอ้างได้รับความเสียหายจากการทุ่มตลาด หรือการขายราคาต่ำ ซึ่งข้อเท็จจริงส่วนนี้ ควรนำมาพิจารณาควบคู่กับความสามารถในการผลิตของทั้ง 2 บริษัท ที่ทำได้เพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้เท่านั้น

ดังนั้น หอการค้าไทย และสมาคมที่เกี่ยวข้อง เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ชะลอการใช้มาตรการเอดี เป็นเวลา 18 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้นำเข้าแผ่นเหล็กมาผลิต และป้องกันการขาดแคลนกระป๋องในอุตสาหกรรมต่างๆ , ขอให้รัฐสนับสนุนการเปิดเวทีเจรจาร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างผู้ผลิตแผ่นเหล็ก ผู้ผลิตกระป๋อง และผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อหาแนวทางบริหารการใช้แผ่นเหล็กในประเทศ และแผ่นเหล็กนำเข้าอย่างสมดุล และขอให้กระทรวงพาณิชย์ นำข้อเสนอดังกล่าวนี้ ไปร่วมพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดด้วย

“กรมการค้าต่างประเทศ ได้ออกร่างผลการไต่สวนฯ ชั้นที่สุดของแผ่นเหล็กทั้ง 2 ชนิด เมื่อวันที่ 11 ส.ค.64 โดยอัตราภาษีเอดีที่จะเรียกเก็บสูงสุดอยู่ที่ 22.67% สำหรับแผ่นเหล็กทินเพลท และ 24.73% สำหรับแผ่นเหล็กทินฟรี  ถ้าบังคับใช้อย่างเป็นทางการจริง จะกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตไม่น้อยกว่า 900,000 ราย ยาวนานถึง 5 ปี เพราะการเก็บเอดีจะทบทวนใหม่ทุก 5 ปี ถ้าททวนแล้วไม่ถอนการใช้มาตรการ ผลกระทบจะเกิดขึ้นต่อเนื่องอีก และหากผู้ผลิตอาหารกระป๋อง แบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว ต้องปรับขึ้นราคาขายอาหารกระป๋อง ผู้บริโภคจะได้รับขณะเดียวกัน เกษตรกรและชาวประมง ซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นน้ำต้องสูญเสียรายได้ตามไปด้วย”