จีนเบียดสหรัฐฯขึ้นแท่นคู่ค้าอันดับต้นในเอเชีย-แปซิฟิก

  • หลังโควิด-19 ระบาด-สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน
  • บริษัทต่างๆ หันซบจีนกระจายความเสี่ยงห่วงโซ่ผลิต
  • พร้อมคาดปีหน้ายอดค้าขายกับจีนพุ่งทะยานได้แน่

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผลสำรวจของ HSBC Holdings ที่สำรวจความคิดเห็นบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เร่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกอย่างไร พบว่า จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นตลาดอันดับต้น ที่บริษัทต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทำธุรกิจด้วย

ผลสำรวจ ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 28% ระบุว่า สหรัฐฯเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด แต่มากถึง 29% ตอบว่า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการค้าโดยรวมยังเติบโตได้ดีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น และเกิดความขาดแคลนสินค้าระยะสั้น โดยผู้ตอบ 72% ระบุว่า การค้าจะดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัท และแรงงานอเมริกันได้รับประโยชน์จากการเติบโตของจีน ผลสำรวจของ HSBC Holdings ยังแสดงให้เห็นอีกว่า การแยกตัวออกจากการทำธุรกิจร่วมกับจีน ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการ แต่การผลิตได้กระจายไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาค อย่างจีน

“การเปลี่ยนแปลงของภูมิภาค จากตะวันตกไปยังตะวันออก และการผงาดขึ้นมาของเอเชีย มีสงครามการค้าเป็นตัวเร่ง นี่คือจุดเปลี่ยน การค้าขายระหว่างภูมิภาค ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯใช้ลัทธิปกป้องทางการค้า และการระบาดของโควิด-19” นาตาลี ไบลท์ หัวหน้าด้านสินเชื่อการค้าต่างประเทศ ของ HSBC กล่าว

นาตาลี ยังกล่าวอีกว่า การค้าขายภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยังจะได้รับผลดีจากการที่ 15 ชาติสมาชิก เพิ่งลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการค้าในภูมิภาค เพราะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ด้วยประชากรรวมกันกว่า 3,000 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของ HSBC ยังพบว่า 93% ของผู้ตอบแบบสอบถาม กังวลเกี่ยวกับห่วงโซ่การผลิตของตนเอง จากความไม่แน่นอนของอัตราภาษี การคว่ำบาตร หรือการออกมาตรการกีดกันต่างๆ เพื่อตอบโต้ทางการค้ากับซัปพลายเออร์ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุด นอกจากนี้ 34% ของบริษัทในเอเชีย-แปซิฟิก ที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า บริษัทต้องกระจายความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบ และห่วงโซ๋การผลิต รวมถึงลดห่วงโซ่การผลิตในยุโรป ส่งผลให้การทำการค้ากับประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก เพิ่มขึ้น และลดการทำการค้ากับภูมิภาคอื่นๆ ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ เป็นต้น

ส่วนความคาดหวังในด้านยอดขายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในปีหน้าเป็นอย่างไร ผู้ตอบ 60% บอกว่า ยอดขายลดลง และมี 62% ที่บอกว่า ยอดขายในจีนจะเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า

สำหรับการสำรวจครั้งนี้ HSBC ได้สำรวจความคิดเห็นจากบริษัทเอกชน จำนวน 10,400 บริษัท ใน 39 ประเทศ ระหว่างวันที่ 11 ก.ย.- 7 ต.ค.63 ในช่วงที่เกิดการระบาดรอบ 2 ในยุโรป ขณะที่การทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป (อียู) ภายหลังจากสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกอียู ยังไม่ชัดเจน และก่อนที่โจ ไบเดน จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ย.63