จีนดันแผนสันติภาพยุติสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” 12 ข้อ

  • ยืนยันว่าอาวุธนิวเคลียร์ต้องไม่ถูกนำมาใช้
  • ย้ำถึงความจำเป็นในการปกป้องพลเรือน
  • จีนพยายามวางตัวเป็นกลางในวิกฤตความขัดแย้งนี้

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียเปิดฉากสงครามรุกรานยูเครน กระทรวงต่างประเทศจีนได้เผยแพร่เอกสารที่ระบุว่าเป็น “ข้อยุติทางการเมือง” 12 ข้อ ในวิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่จีนยังระบุเรียกร้องให้คู่สงครามจัดการเจรจาสันติภาพขึ้นโดยเร็วที่สุด และยืนยันว่าอาวุธนิวเคลียร์จะต้องไม่ถูกนำมาใช้ในความขัดแย้งของพวกเขา

“ทุกฝ่ายควรสนับสนุนรัสเซียและยูเครนในการทำงานในทิศทางเดียวกันและกลับมาเจรจาโดยตรงโดยเร็วที่สุด” เอกสารที่เผยแพร่บนเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศจีนระบุ พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปกป้องพลเรือน โดยระบุว่าภาคีของความขัดแย้งควรปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการโจมตีพลเรือนหรือสิ่งอำนวยความสะดวกของพลเรือน ทั้งนี้ จีนพยายามวางตัวเป็นกลางในวิกฤตความขัดแย้งนี้ ขณะเดียวกันจีนก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของจีนเอาไว้

สหรัฐอเมริกาออกมาวิจารณ์เอกสารดังกล่าวของจีนในทันที โดยนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า สงครามสามารถยุติลงได้ในวันพรุ่งนี้ หากรัสเซียยุติการโจมตียูเครนและถอนกำลังทหารทั้งหมดออกไป “ท่าทีแรกของผมต่อเรื่องนี้คือ มันอาจหยุดได้ที่จุดหนึ่งซึ่งก็คือการเคารพอธิปไตยของทุกประเทศ” ซัลลิแวนกล่าว

ด้านประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวในวันก่อนว่า เขายังไม่เห็นแผนสันติภาพของจีนและเขาต้องการพบปะกับจีนเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว ก่อนจะทำการประเมินข้อเสนอนั้น

ขณะที่ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่นครนิวยอร์ก การประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ลงมติสนับสนุนร่างข้อมติที่นำเสนอโดยเยอรมนี เรียกร้องให้มีสันติภาพในยูเครนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ โดยประเทศที่สนับสนุนข้อมติดังกล่าว มี 141 เสียงซึ่งรวมถึงไทย คัดค้าน 7 เสียง ประกอบด้วย เบลารุส เกาหลีเหนือ เอริเทรีย มาลี นิการากัว รัสเซีย และซีเรีย และงดออกเสียงอีก 32 ประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน อินเดีย แอฟริกาใต้ ศรีลังกา ปากีสถาน เวียดนาม และลาว

แม้ข้อมติดังกล่าวของที่ประชุมไม่มีผลผูกพันใดๆ และ เป็นเพียงความหมายในเชิงสัญลักษณ์ แต่มีน้ำหนักในทางการเมือง โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งรวมถึงประชาคมระหว่างประเทศ ช่วยกันหาทางทำให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างสันติภาพ พร้อมกับเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังออกจากดินแดนของยูเครน ทั้งยังยืนยันถึงพันธกรณีต่ออำนาจอธิปไตย เอกราช เอกภาพ และบูรณภาพเหนือดินแดนของยูเครนภายใต้พรมแดนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงเรียกร้องให้มีการยุติการสู้รบ พร้อมกับให้มีการนำตัวอาชญากรสงครามไปดำเนินคดีในกระบวนการระหว่างประเทศอีกด้วย

นายดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน กล่าวว่า การลงมติในครั้งนี้สร้างความชัดเจนว่ารัสเซียจะต้อง ยุติความก้าวร้าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของตนเอง และบูรณภาพเหนือดินแดนของยูเครนจะต้องได้รับการฟื้นฟู กลับมา “หนึ่งปีหลังจากรัสเซียได้ทำการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ การให้การสนับสนุนของโลกต่อยูเครนยังคงแข็งแกร่ง” คูเลบาทวีต (เอพี/เอเอฟพี)