จีดีพี 63 ต่ำสุด 22 ปีแต่ดีกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งจริงหรือ??

หลังจากผจญกับ “วิกฤตโควิด-19” มาเกือบทั้งปี 2563 และเคยคาดกันว่า ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยจะตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย 

แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์  ได้ประกาศตัวเลขจริง ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2563 ซึ่งขยายตัวลดลงจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ติดลบ 6.1% 

ซึ่งถึงแม้ว่า จะเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำสุดในรอบ 22 ปี !!

อย่างไรก็ตาม จีดีพีปีที่ผ่านมา ไม่ได้ติดลบสูงที่สุดในประวัติศาสาตร์ชาติไทยตามคาด แถมออกมายังดีกว่า “ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ในช่วงปี 2540-2541 ด้วยซ้ำ !!!

จริงๆ แล้ว ณ วันนี้ “สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทย” วันนี้เป็นอย่างไร แตกต่างหรือเหมือนกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่เปรียบเสมือนบาดแผลลึกของประเทศไทยอย่างไร 

เราลองมาเปรียบเทียบกับชัดระหว่างเศรษฐกิจช่วงวิกฤตใน 5 หัวข้อ คือ “ตัวเลขจีดีพี มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ สถานการณ์แรงงาน หนี้เสียและค่าเงินบาท” 

เศรษฐกิจขยายตัวลด 7.6% และ6.1%

เริ่มต้นที่หัวข้อแรก “การขยายตัวของเศรษฐกิจ” ซึ่งหากเปรียบเทียบกันที่ตัวเลข  ตัวเลขการขยายตัวที่ต่ำสุดของไทย และต่ำสุดในประวัติการณ์ ปี 2541 ยังติดชาร์จอันดับหนึ่ง โดยติดลบจากระยะเดียวกันของปีก่อน 7.6% 

ขณะที่ในปี 2563 นั้น ในช่วงแรกสำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจส่วนใหญ่ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบจากระยะเดียวกันของปีก่อน มากกว่า 8% แต่หลังจากเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.ปี 2563 ในครึ่งหลังของปีเริ่มมีการกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลใช้มาตรการเยียวยาต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 

ส่งผลให้จีดีพีของปี 2563 กลับมาฟื้นตัวได้ และติดลบน้อยกว่าที่คาดในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี ทำให้จีดีพีรวมทั้งปีติดลบ 6.1% หรือดีกว่าที่คาดกันไว้ประมาณ 2% ของจีีดีพี

นอกจากนั้น หากพิจารณาในส่วนของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อทั่วไป พบว่าในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีอยู่ที่ติดลบ 8.5% ขณะที่ในปี 2541 นั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงถึง 8.07% แสดงให้เห็นถึง ความยากลำบากของเศรษฐกิจในวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีมากกว่า

มูลค่าความเสียหายเศรษฐกิจ 5.3 ล้านล้านบาท

มาต่อกันที่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่เกิดชึ้นจากวิกฤตโควิด-19 จะออกมาต่ำกว่าในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่หากคิดความเสียหายทางเศรษฐกิจออกมาเป็นตัวเงิน หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจจะพบว่า ความเสียหายที่เป็น “ตัวเงิน” ในปี 2563 สูงกว่าปี 2540 และปี 2541 มาก

โดยจากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คิดตาม ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ แบบปริมาณลูกโซ่ ในปี 2539 หรือก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งอยู่ที่ประมาณ 5.36 ล้านล้านบาท การหดตัวต่อเนื่องของจีดีพี 2 ปีในช่วงนั้น คือ ปี 2540 หดตัว 2.8% และในปี 2541 หดตัวเพิ่มอีก 7.6% ทำให้มูลค่าจีดีพีลดลงมา เหลือ 4.81 ล้านล้านบาทในปี 2541 หรือลดลงประมาณ 550,000 ล้านบาท

ขณะที่ตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ แบบปริมาณลูกโซ่ ของไทยในปี 2562  อยู่ที่ 10.92 ล้านล้านบาท จากการลดลงของจีดีพีในปี 2563 ที่ติดลบ 6.1% ทำให้มูลค่าจีดีพีของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 7.58 ล้านล้านบาท หรือลดลงประมาณ 3.34 ล้านบาทในปีเดียว 

ขณะที่หากคิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากผลิตภัณฑ์รวม ณ ราคาปัจจุบัน  จะพบว่า จากปี 2562 ซึ่งผลิตภัณฑ์รวม ณ ราคาปัจจุบัน อยู่ที่ 16.87 ล้านล้านบาท ในปี 2653 ธปท.รายงานว่า ผลิตภัณฑ์รวม ณ ราคาปัจจุบัน อยู่ที่ 11.57 ล้านบาท หรือลดลงมากถึง 5.3 ล้านล้านบาท

สถาการณ์ด้านแรงงานหนักไม่แตกต่าง

จากผลของวิกฤตสินเชื่อ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาจากวิกฤตสถาบันการเงิน และการลอยตัวค่าเงิน ทำให้ในช่วงปี 2541 จำนวนผู้ประกอบการที่ปิดกิจการเพิ่มจำนวนขึ้นมาก ส่งผลการว่างงานรวมเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.5% ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งสูงที่สุดที่เคยมีมาในช่วง 10 ปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจากอัตราการว่างงานเฉลี่ย 4% ในระหว่างปี 2538-2540

โดยในช่วงนั้น โรงงานจำนวนมากประสบปัญหาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สินต่างประเทศอย่างรวดเร็ว จากการลอยตัวค่าเงินบาท และวิกฤตสินเชื่อ ซึ่งมาจากการล้มละลายของธนาคาพาณิชย์นับสิบแห่ง และบริษัทเงินทุน 56 แห่ง ทำให้เกิดการลอยแพ และประท้วงของแรงงานจำนวนมาก

ขณะที่ในปี 2563 ธปท.คาดการณ์ว่า จำนวนผู้ว่างงาน และผู้ที่เสมือนว่างงาน คือ มีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราว ทำงานต่ำกว่า 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือผู้ที่รายได้ลดลงรุนแรงโดยรวม ทั้งผลตกค้างจากโควิดระลอกที่ 1 และโควิดระลอกที่ 2 ไว้ที่ 6.9 ล้านคน ซึ่งถือว่าหนักหนาสาหัสไม่แพ้กันทั้งของสองวิกฤต

อย่างไรก็ตาม ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งนั้น มนุษย์เงินเดือน หรือแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม จะเป็นแรงงานหลักที่ตกงาน ขณะที่ในช่วงวิกฤตโควิด แรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ แรงงานในกลุ่มภาคบริการ ท่องเที่ยว โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ต่างเหตุต่างปัจจัย“หนี้เสีย”พุ่ง 

สำหรับสถานการณ์หนี้สิน หรือหนี้เสียในปี 2540 กับปี 2563 นั้น แม้ว่าจะพุ่งขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาเช่นเดียวกัน แต่ในเนื้อในนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

โดยในปี 2540 น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่คนไทยรู้จักกับคำว่า “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” หรือเอ็นพีแอล โดยในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง หนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินพุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 48% ของสินเชื่อรวม หรือสินเชื่อเกือบครึ่งหนึ่งที่ปล่อยออกไปเป็นหนี้ที่เรียกคืนไม่ได้ และเป็นเหตุให้สถาบันการเงินจำนวนมากต้องปิดกิจการ

ทั้งนี้ นอกเหนือจากหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจซบเซา โรงงานปิดกิจการ คนตกงาน ฯลฯ แล้ว ปัจจัยสำคัญมากกว่าที่ก่อให้เกิดหนี้เสีย และวิกฤตสถาบันการเงินในปี 2540 คือ ความตั้งใจในการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวม ไม่มีหลักประกัน หรือมีหลักประกันที่ไม่มีมูลค่า การปล่อยสินเชื่อเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ของผู้บริหารสถาบันการเงินบางกลุ่มบางคน  ปล่อยสินเชื่อเพื่อเอื้อประโยชน์ตนเอง ทั้งที่รู้ว่าไม่สามารถเรียกหนี้คืนได้

ในขณะที่ในปี 2563 นี้ แม้ว่าหนี้เสียในภาพรวมหรือหนี้เอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงิน ล่าสุดจะอยู่ที่ 3-4% ของสินเชื่อรวม แต่หากพิจารณาจำนวน และมูลหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ของธปท. ซึ่งล่าสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.63 อยู่ที่ 8.27 ล้านราย มูลหนี้ประมาณ 4.84 ล้านล้านบาทแล้ว จะเห็นถึงความเดือดร้อนของคนไทยจากวิกฤตโควิดครั้งนี้

“ค่าเงินบาท”กระทบเศรษฐกิจ

อย่างที่รู้กันว่า สถานการณ์เลวร้ายของวิกฤตต้มยำกุ้งคือ การพยายามเข้าไปรักษาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของธปท.และส่งผลต่อเนื่องให้ประเทศไทยต้องประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” หรือการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว อย่างที่ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมใดๆ ทั้งสิ้นในวันที่ 2 ก.ค.2540 

ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงจากประมาณ 25.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะนั้น และอ่อนค่าลงไปสูงสุดระหว่างวันที่ 56 บาทต่อดอลลารสหรัฐฯ และที่เลวร้ายกว่านั้น เจ้าหนี้ต่างชาติของบริษัทไทยบางแห่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าที่สูงในการชำระหนี้คืน ทำให้หลายบริษัททั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ในขณะนั้น เดือดร้อนอย่างหนักจากมูลหนี้เงินต้นที่ต้องชำระคืน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในเวลาชั่วข้ามคืน

ส่งผลให้เราเห็นบริษัทไทยหลายบริษัทขณะนั้น เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และกระบวนการฟื้นฟู หลายร้อยบริษัทหุ้น หรือขายกิจการให้ต่างชาติมาซื้อในราคาถูกๆ

ขณะที่ในปี 2563 ค่าเงินบาทของเรากลับทิศ คือ อยู่ในทิศทางที่แข็งค่า โดยล่าสุดหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาระยะหนึ่งแล้ว โดยล่าสุดอยู่ที่ 29.914 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจุดนี้ถือว่า ไม่ได้เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของการส่งออกและความสามารถในการแข่งขันของไทยเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้ บทสรุปของวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตต้มยำกุ้งที่ผ่านมา อาจะมีแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด แต่บทสรุปหลักที่เหมือนกันอย่างแน่นอน คือความเดือดร้อนของประชาชน

#TheJournalistClub #โควิด19 #JNC #เศรษฐกิจคิดง่ายๆ