จับเทรนด์เศรษฐกิจใหม่…หลังโควิด-19

ในขณะที่พวกเรายังอยู่ในช่วงที่ต้องผจญกับมหันตภัยร้าย จากโควิด-19 ไปอีกระยะหนึ่ง หลายคนพยายามมองไปข้างหน้าว่า บทเรียนของโควิด-19 นี้ จะทำให้เทรนด์การการเงินของโลกเปลี่ยนไปอย่างไร ทั้งในแง่การทำธุรกิจและการบริหารเงินของคนธรรมดาอย่างพวกเรา

โดย ณ วันที่เขียน มีคนทั่วโลกจำนวนใกล้ 20 ล้านคนแล้ว ที่ติดโควิด-19 และคาดกันว่า กว่าพายุจะสงบในกลางปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่วัคซีนต้านโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ 2019 จะสำเร็จ นั้น จะมีคนอีกอย่างน้อย 10 ล้านคนที่ติดเชื้อโรคนี้ 

สำหรับความเสียหายจากโควิด-19 ในทางเศรษฐกิจนั้น มีการคาดกันว่า วิกฤตครั้งนี้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลกในปี 2563 นี้ ลดลงประมาณ 6-8 % จากปี 2562 ที่จีดีพีมีมูลค่ารวม 88.08 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ 

หรือ คิดง่ายๆ ว่า จากมูลค่าจีดีพี 193 ของประเทศทั่วโลกที่อยู่ที่ 88 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โควิดจะทำให้ลดลง 5.28-7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ  หรือ คิดง่ายๆ อีกที เป็นเงินบาทไทย เอา 30 ไปคูณ ได้เท่ากับ 158.4-210 ล้านล้านบาท ถ้าคิดจีดีพีของไทยที่ประมาณ 16 ล้านล้านบาท ความเสียหายจากโควิดทั่วโลกจะมากกว่าจีดีพีขอไทย 10-13 เท่า

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผลกระทบมหาศาลดังกล่าว จะทำให้โลกหลังโควิด -19 เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการทิศทางในทำธุรกิจ รวมทั้ง พฤติกรรมการใช้จ่าย เก็บออมของคนเรา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ทั่วโลก จะมองว่า หากเราผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 สำเร็จ เศรษฐกิจดลกจะใช้เวลาเยียวยาตัวเองเพียง 2 ปี และทำให้จีดีพีของโลกกลับมาอยู่ทีเดิม หรือ 88 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ในช่วงสิ้นปี 65  

แต่มีนักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่มที่ยืนยันว่า โควิด-19 จะทำให้พฤติกรรมของธุรกิจ และประชากรโลกเปลี่ยนไปสู่เทรนด์ใหม่ที่ “คำนึงถึงเสถียรภาพ และอนุรักษ์นิยม”มากขึ้น  ซึ่งจะคล้ายๆ กับเศรษฐกิจในช่วงหลัง “วิกฤตเศรษฐกิจ” ใหญ่ๆ ทุกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส

อย่างไรก็ตาม เทรนด์ใหม่ที่เห็นได้ชัด เทรนด์แรกในส่วนของการ Work From Home หรือให้ทำงานที่บ้านนั้น ยังมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างระหว่าง ผลดี และผลเสียง ว่า หากให้พนักงานยืนระยะยาวๆ ที่จะWork From Home แบบถาวร ประสิทธิภาพของงานที่ดีขึ้น หรือลดลงมากกว่ากัน 

แต่ส่วนที่ภาคธุรกิจคิดเหมือนกันชัดเจน คือ การสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่ธุรกิจ และการสร้าง “พันธมิตร” ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยหลังโควิด-19 เราจะเห็น ผู้ผลิตสินค้าต้นทาง กลางทาง และปลายทาง รวมทั้งลูกค้าที่จับมือกันหรือทำสัญญาใจระหว่างกันแน่นหนาขึ้น  เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและไปด้วยกันทั้งระบบ

ขณะที่ การควบรวมกิจการ (Mergers & Acquisitions : M&A) ก็มีแนวโน้มกลับมาเติบโตหลังโควิด-19 เช่นกัน โดยจะมีภาคธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนหนึ่ง ที่จะเข้าซื้อ หรือควบรวมกิจการ กับบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า ที่สามารถนำมาต่อยอดการผลิตและสินค้าของตัวเอง ให้กลายเป็น Smart product ได้ รวมทั้ง จะเห็นการขยายการลงทุน หรือซื้อบริษัทที่ผลิตสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำมาของตัวเองมากขึ้น เพื่อให้สามารถคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างครบวงจร

เพราะตระหนักแล้วว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีปัจจัยลบมากระทบรุนแรง “ต้นทุนที่ต่ำ” และ “ลูกค้าที่เข้มแข็งมีความรักให้แบรนด์” จะเป็นหัวใจสำคัญของการฝ่าวิกฤตทุกวิกฤตไปให้ได้

นอกจากนั้น หากมองในลักษณะ MegaTrend ของโลกหลังโควิด เชื่อว่า เราจะยังเห็น “สังคมสูงวัย” เกิดขึ้นต่อเนื่องในทุกทวีปของโลก และในประเทศไทย  คนจะรักสุขภาพมากขึ้น สรรหาสินค้าที่ช่วยดูสุขภาพ และสุขลักษณะมากขึ้น  คนจะต้องการผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายแต่ทุกสิ่งต้องดีต่อสุขภาพมากขึ้น และที่สำคัญจะเน้นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ไม่ทำร้ายโลก หรือผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากขึ้นด้วย

ขณะที่  เทรนด์ของการ Go Green และการทำธุรกิจที่ยั่งยืน จะเกี่ยวเนื่องไปถึง “การได้รับสินเชื่อจากระบบธนาคารพาณิชย์ และการยอมรับขององค์กรชั้นนำในโลก

ส่วนเทรนด์การเงินบ้านๆ ของคนบ้านๆ หรือคนธรรมดาอย่างเรา หนทางที่จะเห็นคือ การประหยัดและอดออม ที่มากขึ้น เพราะหลังโควิดทุกคนในโลกจะจนลง

ขณะเดียวกัน หลังประสบการณ์การตกงานแบบกระทันหัน หรือ รายได้ที่ลดลงมากในเวลาอันรวดเร็ว ในช่วงโควิด-19  น่าจะทำให้คนไทย และทั่วโลก คำนึงถึงเทรนด์การใช้จ่ายเงิน และบริหารเงินที่เน้นเสถียรภาพมากขึ้น โดยมีการเก็บ “เงินสำรอง” ไว้สำหรับใช้ในยามฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเริ่ม ปรับการใช้ชีวิตไปสู่ “ความพอเพียง” และการใช้จ่ายที่จำเป็นมากขึ้นด้วยเช่นกัน

เพราะในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ผ่านมา หลายคนใช้เงินแบบไม่ได้คำนึงถึง “การออม” ก่อน “ใช้จ่าย” รวมทั้งใช้ชิวิตด้วยการ “ใช้เงินในอนาคต” ไปก่อนแล้วค่อยมา “ผ่อนที่หลัง” 

และหากวันนี้ เราเข้าไปเยี่ยมชม ซื้อสินค้าในตลาดนัดออนไลน์หลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็น ตลาดของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย ตลาดนัดเอสเอ็มอี หรือตลาดนัดของกลุ่มอาชีพหลากหลาย จะพบว่า มีคนจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องขายต่อบ้าน ขายต่อรถยนต์หรูที่ผ่อนต่อไม่ไหว หรือขนเอาแบรนด์เนมลูกรัก มาส่งต่อกันจำนวนไม่ใช่น้อย

และเทรนด์ดังกล่าวกำลังเป็นที่จับตามองของโลกหลังโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำของโลกว่า ในโลกที่คนที่จนลง การพบปะระหว่างกันลดลง หลายบริษัทเลือกนโยบาย Work From Home มากขึ้น และอาจจะกลายเป็นการทำงานแบบถาวร รวมทั้งมีคนออกจากชีวิจในเมืองไปใช้ชีวิตในชนบทมากขึ้น นั้น  

ประชากรโลกส่วนใหญ่ของโลก จะปรับพฤติกรรมเข้าสู่ “วิถีพอเพียง” ลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยลงได้อย่างถาวร ได้จริงหรือไม่ หรือ เป็นเพียงกระแสช่วงสั้นๆ ในระหว่างวิกฤตโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นการบริหารเงิน หลังโควิด-19 นั้น เราเห็นหลากหลายองค์กร ที่พยายามส่งเริมการสร้าง “วินััยทางการเงิน” ที่เข้มแข็งขึ้น และที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะ “ใช้จ่าย” อย่างไร สินค้าจำเป็น หรือฟุ่มเฟือย ขอให้ใช้จ่ายเงิน ในส่วนที่เหลือจากการเก็บออมแล้ว 

โดยอย่างน้อยที่สุด ควรจะมี “เงินเก็บกรณีฉุกเฉิน”  เช่น กรณีวิกฤตโควิด-19 นี้ ไว้ เป็นเงินเท่ากับเงิน 3-6 เดือน ภาระค่าใช้จ่าย และการผ่อนส่งหนี้ทั้งหมดที่มีในแต่ละเดือน 

เช่น หากมีค่าใช้จ่ายเดือน ละ 30,000 บาท มีค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ อีก 30,000 บาท เท่ากับ 1 เดือน มีรายจ่าย 60,000 บาท เงินออมฉุกเฉินที่ควรมีคือ อย่างน้อยที่สุด คือ 200,000 บาท แต่ถ้าให้ดีควรจะมีเงินออกฉุกเฉินที่ 400,00 บาท แล้วสมุดเงินฝากใส่ลิ้นชักปิดตายไว้

โดยหนทางที่ดีที่สุด คือ ได้เงินเข้ามาเมื่อไร ให้หักเงินออมออกก่อนอย่างน้อย 10% ก่อนที่จะใช้จ่าย เช่นมีรายได้ 60,000 บาทต่อเดือน ควรออมเงินต่อเดือนอย่างน้อย 6,000 บาท

นอกจากนั้น  การตัดสินใจกู้เงิน หรือตัดสินใจเป็นหนี้นั้น ควรจะพิจารณา ความจำเป็นในการกู้ตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 10 และหากต้องกู้เงินจริง ภาระการผ่อนส่งหนี้ในแต่ละเดือน ไม่ควร 1 ใน 3 ของรายได้ เช่น มีรายได้ 60,000 ต่อเดือน ควรมีภาระผ่อนหนี้ไม่เกิน 20,000 บาท หรืออาจจะสูงกว่านั้นได้เล็กน้อย

โควิิด-19 ถือเป็นหนึ่งใน “คำเตือนของธรรมชาติ” และเราไม่รู้หรอกว่า ธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลง หรือส่งคำเตือนใหม่ๆ มาให้เราเมื่อไร อาจจะอีกนาน หรืออาจจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปี การเตรียมความพร้อมทางการเงิน และสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ เป็นหนทางที่ดีสุด ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ และภาคประชาชน