จับตา20พ.ย.นี้ทีมไทยแลนด์เจรจาขอคืนจีเอสพี

  • ถก”ยูเอสทีอาร์”ทบทวนขอคืนสิทธิ573สินค้าไทย
  • “จุรินทร์”รอลุ้นผลพร้อมสั่งลุยส่งออกแบบเข้มข้น
  • ยอมรับผู้นำเข้าเร่งซื้อของไทยก่อนถูกเก็บภาษีเม.ย.63

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย 573 รายการว่า ในวันที่ 20 พ.ย. 62 เอกอัครราชทูตไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี สหรัฐ รวมถึงสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ และทูตแรงงาน ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) อย่างเป็นทางการครั้งแรกถึงแนวทางทบทวนการตัดสิทธิจีเอสพี สินค้าไทย ซึ่งต้องติดตามว่าผลการเจรจาจะเป็นอย่างไร

ส่วนผลกระทบของผู้ส่งออกนั้น ได้มอบหมายให้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประชุมกับผู้ส่งออกภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ เช่น การหาตลาดใหม่เพิ่มเติมโดยเฉพาะในตลาดจีนที่สามารถทำตลาดเป็นรายมณฑลได้มากขึ้น รวมถึงการขยายตลาดเดิม เป็นต้น

“ไม่ว่าในอนาคตผลการเจรจาจะเป็นอย่างไร แต่กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมพร้อมขยายตลาดสินค้าเพิ่มเติมมากขึ้น ทั้งสำหรับสินค้าโดยรวมของไทย และสินค้าที่ถูกสหรัฐตัดจีเอสพี ที่แม้มูลค่าส่งออกไม่มากนัก หากเทียบกับมูลค่าส่งออกภาพรวมของไทย และที่สำคัญแม้ว่าจะขึ้นภาษีจาก 0% เป็น 4-5% แต่หลายสินค้าก็ยังแข่งขันได้ ดังนั้นการทำตลาดส่งออกแบบเข้มข้น เช่น การนำผู้บริหารกระทรวงและภาคเอกชนโรดโชว์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐ ยุโรป รวมถึง การทำตลาดในเมืองสำคัญมากขึ้นและการนำผู้นำเข้าต่างประเทศเข้ามาเจรจากับผู้ส่งออกไทย”

ด้านนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ รักษาการอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้มีสัญญาณผู้นำเข้าจากสหรัฐทยอยสั่งสินค้า (ออเดอร์) จากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อเก็บเป็นสต็อกไว้รองรับการปรับขึ้นภาษีสินค้าไทยในอีก 6 เดืนข้างหน้า หรือตั้งแต่เดือนเม.ย.63 ส่วนการทำตลาดนั้น จะเน้นขยายตลาดสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นจีเอสพี เช่น ตลาดจีน ตะวันออกกลาง อาเซียน แอฟริกา เป็นต้น ล่าสุด วันที่ 20 พ.ย. นี้กระทรวงพาณิชย์จะจัดโครงการจับคู่ธุรกิจสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป เน้นสินค้ายางพารา มันสำปะหลัง ข้าว สินค้านวัตกรรมจากผลไม้ และผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ โดยเชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่ายจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เช่น ตะวันออกกลาง ยุโรป สหรัฐฯ แอฟริกา และเอเชียกว่า 180 ราย มาเจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทย คาดว่าจะมียอดซื้อขายไม่ต่ำกว่า 2,800 ล้านบาท