จับตา!…“อธิรัฐ”ดันสุดลิ่ม”รถไฟฟ้าสายสีส้ม”เข้าครม. ไม่สนไม่รอศาลฯที่เหลืออีก 3 คดี-รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลหวั่นถูกเอกชนฟ้องกลับทีหลัง…

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า ในการประชุม ครม.วันนี้(13มีค) กระทรวงคมนาคม โดย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ในฐานะรักษาการ รมว.คมนาคม จะเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM ผ่านการคัดเลือกที่จะเข้ามาดำเนินการในโครงการ ซึ่งตามขั้นตอนเมื่อ ครม. อนุมัติเห็นชอบตามที่เสนอ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ก็จะมีการการลงนามในสัญญากับเอกชนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถูกคำสั่งศาลให้ยุติปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.คมนาคม ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ก็เข้ามาทำหน้าที่รักษษการในตำแหน่ง รมว.คมนาคม นั้นปรากฎว่า นายอธิรัฐได้มีความพยายามที่จะเข้ามาบริหารจัดการงบประมาณในทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม รวมถึงได้มีความพยายามที่จะนำผลการคัดเลือกการประมูลเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่กำลังเป็นประเด็นวิพากย์วิจารณ์ขณะนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ได้ออกแฉว่าในโครงการดังกล่าวมีเงินทอนกว่า 30,000 ล้านบาท ขณะที่นายอธิรัฐเองก็ออกมารับหนังสือร้องเรียนจากนายชูวิทย์ และให้สัมภาษณ์ว่าจะตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน หากพบว่ามีข้อเสียหายก็จะเปิดประมูลใหม่ แต่ล่าสุดกลับพบว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 14 มี.ค. นายอธิรัฐกลับนำเรื่องดังกล่าวเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติ

อย่างไรก็ตามในการประชุม ครม. ครั้งนี้ ในวาระดังกล่าวคาดว่า จะมีพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคภูมิใจไทย จะแสดงความเห็น ที่ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า กระทรวงคมนาคม ที่มีนายศักดิ์สยาม ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ได้แสดงออกชัดเจนว่า จะรอผลการตัดสินของศาลฯที่มีการฟ้องร้องกัน เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีอยู่ 4 คดี ให้ได้ข้อสรุปถึงจะมีทิศทางในการดำเนินการในโครงการนี้ นอกจากนั้นขณะนี้รัฐมนตรีพรรคร่วมหลายคนหวั่นใจว่าหากอนุมัติตามที่เสนอมาอาจจะถูกฟ้องร้องจาก กลุ่มบริษัท BTSC ซึ่งเป็นผู้ร่วมประมูลได้ 

ทั้งนี้ในปัจจุบันคดีที่ฟ้องร้องกัน เกี่ยวเนื่องกับ รถไฟฟ้าสายสีส้ม มีอยู่ 4 คดีตัดสินไปแล้ว 1 คดี และยังเหลือค้างอยู่ที่ศาลรอคำตัดสินอีก 3 คดี   สำหรับคดีที่ตัดสินแล้วคือ คดีที่ กลุ่มบริษัท BTSC ฟ้องศาลปกครองกรณีที่ รฟม. มีการแก้ไขเงื่อนไขการประกวดราคา (RFP)ไม่ชอบ และในปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดได้ยกฟ้อง เนื่องจาก รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 แก้ RFP โดยชอบ และไม่ละเมิด กลุ่มบริษัท BTSC

ส่วนอีก 3 คดี ประกอบด้วย 1.คดีที่ศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ไม่ชอบ ซึ่งคดีนี้ ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุดแถลงว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ปัจจุบันรอรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด 2. คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติ  มิชอบกลางที่ กลุ่ม BTSC ฟ้องการแก้ RFP และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต ซึ่งความคืบหน้าของคดีนี้คือ ศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า การแก้ไข RFP เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และการยกเลิกการคัดเลือกฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และคดีนี้อยู่ระหว่าง BTSC    ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา 

และ 3. อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง กรณีที่ BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC ซึ่งความคืบหน้้าของคดี อยู่ระหว่างการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 1โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับเนื่องจากเห็นว่า ประกาศเชิญชวนฯ และ RFP เป็นไปตามกฎหมายแล้ว RFP เปิดกว้างมากขึ้น ไม่มีลักษณะ    เป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC  นอกจากนั้นยังมีการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 2 แต่ศาลไม่รับคำร้องขอทุเลาของ BTSC

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)