จับตา! ดอกเบี้ยไทยรอบนี้จะขึ้นไปสูงแค่ไหน

ท่ามกลางกระแสการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามสู้กับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกหวั่นวิตกว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่มากกว่าที่เคยคาดกันไว้ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย และฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกให้ชะลอลงตามไปด้วย

ทั้งจาก จากการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนส่วนใหญ่ ประเมินว่า หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 0.75% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดอยู่ที่ระดับ 2.25%-2.50%ต่อปี

และในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 22 ก.ย.2565 นี้ ที่จะถึงนี้คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในอัตรา0.75-1% ต่อปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ไปถึงจุดสูงสุด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นสูงสู่ระดับ3.25-3.50% ต่อปี 

นอกจากนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ยังมีผลกดดันต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลกดดันโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายของประเทศเล็กๆ ที่เป็นเศรษฐกิจเปิด เช่น ประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศไทย

โดยในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 3 ปี 9 เดือนไปเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.75% ต่อปีแล้ว 

คาดกันว่า ในการประชุม กนง.วันที่ 28 ก.ย.2565 ที่จะถึงนี้  กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกเพียง 0.25% แม้ว่าจะอัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังไม่แตะจุดสูงสุดที่ 8% ตามที่แบงก์ชาติคาดไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวของโควิด-19 เต็มที่ และยังประสบปัญหาค่าครองชีพที่สูง รวมทั้งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

ทั้งนี้ แบงก์ชาติยืนยันว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไปจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้บริบทที่อัตราดอกเบี้ยของไทยควรจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ

แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า “ดอกเบี้ยปกติ” ของไทย อยู่ที่ตรงไหนระดับใด และ การฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติของไทยคือเมื่อไร

เชื่อว่า คำตอบของคำถามนี้ ทุกคนคงอยากรู้เพื่อจะได้เตรียมตัวที่จะรับมือกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งสามารถที่จะเร่งบริหารจัดการการกู้เงินของตัวเองได้ หากจำเป็นต้องกู้เงินใหม่เพื่อปัจจัยต่างๆ หรือเป็นข้อมูลในการตัดสินใจที่จะซื้อบ้าน ซื้อรถใหม่ หรือเป็นปัจจัยในการเร่งรีไฟแนนซ์หนี้เดิม

คำตอบว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในระดับปกติอยู่ที่เท่าไร ขอยกบางส่วนจากบทความของ ดร.ดอน นาครทัพ ผู้อำนวยอาวุโส ธปท. มาเป็นไกด์ไลน์ในการตอบ ซึ่ง ดร. ดอน ระบุว่า “โดยทั่วไปแล้วนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่า ในภาวะปกติอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรจะอยู่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเล็กน้อย เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง(อัตราดอกเบี้ยนโยบายลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) เป็นบวก เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่คุมไม่ได้ (Runaway Inflation) และการเก็งกำไรในระบบการเงิน”

ดังนั้น หากเป็นไปตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใช้ในการดูแลนโยบายการเงินล่าสุดของแบงก์ชาติ ซึ่งตั้งกรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-3% แล้วคิดจากค่ากลางของกรอบเงินเฟ้อที่ 2% ดอกเบี้ยนโยบายที่เข้าสู่ระดับปกติของไทยน่าจะอยู่ที่ 2.25% ขึ้นไป

ทั้งนี้ ดร.ดอน มองว่า ตัวเลข 2.25% ต่อปี ดังกล่าว เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในอดีตที่ 2% ต่อปี จึงไม่ได้ถือว่าสูงจนเศรษฐกิจไทยจะรับไม่ได้แต่อย่างไร โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 5% ต่อปีในปี 2549

ขณะที่ “เวลา” ที่ดอกเบี้ยนโยบายจะเข้าสู่ภาวะปกติคือ “เมื่อไร” คาดกันว่า สิ้นปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ขึ้นไปอยู่ที่ 1.25% ก่อนที่จะปรับอีก 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จากการประชุม 6 ครั้งในปีหน้า ทำให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.25% ในช่วงปลาบปี 2566 

สอดคล้องกับการประมาณการเศรษฐกิจไทยของแบงก์ชาติ ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในครึ่งปีหลังของปีนี้ และพ้นจากหลุมดำของโควิด-19 ขึ้นมาอยู่ในระดับก่อนโควิดได้ในช่วงต้นปี 66 และยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงสิ้นปี 66

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ย จะทำได้ต่อเนื่องตามเป้าหมายที่แบงก์ชาติคาดหรือไม่นั้น ขึ้นกับปัจจับต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้ และตลอดทั้งปีหน้า หากปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยรุนแรง เศรษฐกิจจีนยังโงหัวไม่ขึ้นจากพิษโควิด เศรษฐกิจยุโรปยังมีปัญหาสงครามและพลังงาน 

เศรษฐกิจโลกชะลอลงแรง เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.

ก็อาจจะชะงัก ชะลอลงเป็นช่วงๆ เพื่อไม่ให้กระตุกเศรษฐกิจไทยรุนแรงเกินไป ดอกเบี้ยนโยบายท้ายสุด อาจะไม่ได้ขึ้นไปอยู่ที่ 2.25% ก็ได้

ทั้งนี้ ดร. ดอน ทิ้งท้ายไว้ให้ ธุรกิจและประชาชนที่ต้องกู้เงินให้ใจชื้นว่า อาจะไม่ควรวิตกกับ ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ในรอบนี้มากนัก แต่ในโลกของความผันผวนยังวางใจอะไรไม่ได้ คราวหน้าเราจะมาคุยกันต่อผลประชุมเฟดวันที่ 22 ก.ย.ว่า สถานการณ์ที่เราพูดกันวันนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่ และเราต้องรับมืออย่างไร