จับตาวิกฤตอาหารโลก : แพง-ขาดแคลน-กักตุน

หลังจากสงครามระหว่างยูเครน และรัสเซียยังคงประทุต่อเนื่อง และยาวนานกว่าที่คาดกันไว้ กดดันให้ราคาพลังงานและราคาอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้องค์กรระหว่างประเทศสำคับๆ ได้ออกมาแสดงความวิตกถึง“ปัญหาความมั่นคงทางอาหารของโลก” ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มีรายงานระบุ สหประชาชาติ (UN), องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), องค์การการค้าโลก (WTO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก มองว่า ในช่วงต่อไปจากนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่โลกจะเผชิญกับวิกฤตความหิวโหยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

โดยเฉพาะเมื่อประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลักๆที่สำคัญของโลกจำนวนหนึ่งประกาศลดการส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อสำรองสำหรับการบริโภคในประเทศ ทั้งนี้ ผลจากสงครามที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้ทั้งรัสเซีย และยูเครนไม่สามารถในกรส่งออกสินค้าหลักๆ ของประเทศตนเองได้

และในช่วงที่ผ่านมา “ยูเครน” ได้ประกาศระงับการส่งออก ข้าวสาลี,ข้าวโอ๊ต,ข้าวฟ่าง,น้ำตาล ขณะที่ รัสเซีย ระงับการส่งออก น้ำตาล, เมล็ดทานตะวัน ถึง 31 ส.ค. 2565 และ ข้าวสาลี,แป้งสาลี,ข้าวไรย์,ข้าวบาร์เลย์,ข้าวโพด

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ รัสเซียและยูเครน เป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกทั่วโลก ยูเครนยังเป็นผู้ส่งออกข้าวโพด ข้าวบาร์ลเย์ น้ำมันเมล็ดทานตะวัน และน้ำมันเรพซีดรายใหญ่ของโลก นอกจากั้น รัสเซียและเบลารุสซึ่งหนุนหลังรัฐบาลรัสเซียในการทำสงครามในยูเครนนั้นส่งออกแร่โพแทช ซึ่งใช้ในการทำปุ๋ยกว่า 40% ของการส่งออกทั่วโลก 

การระงับการส่งออกส่งผลให้ราคาธัญพืชทั่วโลก น้ำมันปรุงอาหาร เชื้อเพลิง และปุ๋ยมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว !!

นอกจากนั้น การระงับการส่งออกสินค้าเกษตร พืชอาหารสัตว์ และปุ๋ย รวมทั้งราคาพืชน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมากามราคาน้ำมันโลก ยังทำให้อีกหลายประเทศตัดสินใจระงับการส่งออกสินค้าจำเป็น

ยกตัวอย่าง เช่น อาร์เจนตินา ระงับการส่งออก น้ำมันถั่วเหลือง,อาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองแอลจีเรีย ระงับการส่งออก พาสต้า,ข้าวสาลี,น้ำมันพืช,น้ำตาล.อียิปต์ ระงับการส่งออก น้ำมันพืช,ข้าวโพด ถึง 12 มิ.ย 2565 อินเดียระงับการส่งออก ข้าวสาลี อิหร่าน ระงับการส่งออก มันฝรั่ง, มะเขือม่วง,มะเขือเทศ,หัวหอม 

คาซัคสถาน ระงับการส่งออก ข้าวสาลี,แป้งสาลี โคโซโว ระงับการส่งออก ข้าวสาลี,ข้าวโพด,แป้ง,น้ำมันพืช,เกลือ,น้ำตาล  ตุรกี ระงับการส่งออก เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนย , น้ำมันปรุงอาหาร และเซอร์เบีย ระงับการส่งออก ข้าวสาลี,ข้าวโพด,แป้ง,น้ำมัน

ขณะที่ อินโดนีเซีย ในช่วงก่อนหน้าได้ประการะงับการส่งออก น้ำมันปาล์ม,น้ำมันเมล็ดปาล์ม ถึง 31 ธ.ค. 2565 แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พ.ค.การกดดันอย่างหนักหน่วงของผู้ปลูกปาล์ม และผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม ทำให้กลับมาเริ่มส่งออกน้ำมันปาล์ม และน้ำมันเมล็ดปาล์ม อีกครั้ง ในวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารโลก และวิกฤตอาหารโลก ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากปัญหาวิกฤตโลกร้อน และการขนส่งสินค้าที่ทำได้ยากลำบากในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่ความรุนแรงของปัญหาทวีขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ 

เพราะนอกเหนือจากผลผลิตที่อาจจะขาดแคลนในบางช่วงแล้ว การเก็งกำไรของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน และการกักตุนสินค้าที่เกิดขึ้นในหลายประเทศมหาอำนาจ ไม่เพียงแต่ประเทศที่ห้ามการส่งออก กลายเป็นปัจจัยลบที่เร่งปัญหาให้อาจจะกลายเป็น “วิกฤต” ในที่สุด 

ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศ ดัชนีราคาอาหารโลก ที่อ้างอิงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 23 รายการ ล่าสุด เดือนเม.ย.อยู่ที่ระดับ 158.5 จุด แม้จะลดลงได้เล็กน้อย 0.8% จากเดือนมี.ค.ที่ขึ้นไปสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก แต่ยังถือว่า อยู่ในระดับสูงที่

โดยราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และน้ำมันพืช เป็นสินค้าที่ราคาลดลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม น้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหาร ทั้งคาวและหวานยังเป็นหมวดสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น และที่สำคัญแนวโน้มราคาอาหารโลกเดือน พ.ค.ยังมีโอกาสปรับสูงขึ้นอีกครั้ง

นายกุแตเรซ เลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า สงครามในยูเครนกลายเป็นอีกปัญหาที่ซ้ำเติมปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นและการแพร่ระบาดของโควิดก่อนหน้านี้แล้ว

“ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี มีประชากรโลกที่ต้องอยู่อย่างไม่มีความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม 135 ล้านคน ในช่วงก่อนการแพร่ระบาด เป็น 276 ล้านคนในเวลานี้”

ขณะที่นายเอเรน กุนฮัน อูลูซอย ประธานสมาคมผู้ประกอบการโรงสีระหว่างประเทศในยูเรเชีย (International Association of Operative Millers Eurasia – IAOM Eurasia) เปิดเผยในการประชุมระหว่างประเทศของ IAOM Eurasia ในอิสตันบูลระบุว่า รายงานระหว่างประเทศบ่งชี้ว่า ประชาชน 811 ล้านคนอยู่ในภาวะที่ขาดอาหาร และ 276 ล้านคนรอคอยการแจกจ่ายอาหาร  โดยมองว่า “ข้าวสาลีทุกเม็ดมีค่า และเราต้องดำเนินการเพื่อลดความหิวโหยโดยการลดและป้องกันความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ ไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)  ได้ประกาศแผนรับมือวิกฤตความมมั่นคงด้านอาหารทั่วโลก โดยจะอัดฉีดงบประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ครอบคลุมด้านเกษตรกรรม, โภชนาการ, การคุ้มครองทางสังคม, น้ำและการชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดช่วง 15 เดือนข้างหน้า

โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการแก้ไขวิกฤตการขาดแคลนอาหารทั่วโลก ที่เกิดจากผลกระทบของสงครามและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน หลังการส่งออกธัญพืชของทั้งสองประเทศต้องหยุดชะงักไป ส่งผลให้ราคาอาหารในหลายประเทศเพิ่มขึ้น

นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า “ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง”  โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาธัญพืชจากรัสเซียและยูเครน

ขณะเดียวกัน เขายังระบุด้วยว่า ธนาคารโลกจะพยายามกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ พยายามร่วมกันเพื่อเพิ่มปริมาณพลังงานและผลผลิตปุ๋ย ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มอัตราการเพาะปลูกและปริมาณผลผลิต รวมถึงยกเลิกนโยบายระงับการส่งออกและนำเข้า

สำหรับประเทศไทย ในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลกนั้น เราโชคดีที่จะไม่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะหิวโหย หรือขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงทั่วประเทศ 

แต่ผลกระทบจากราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยที่สูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนของเกษตรกรไทยให้เพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าจะกระทบกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ราคาอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศให้สูงขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง ในด้านการเกษตร เราจะเป็นต้องหาทางสร้างวิกฤตอาหารโลกให้เป็นโอกาส ปรับองคาพยพ เพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีการเกาตร เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวจะต้องมองถึง  “กลุ่มคนยากจน และกลุ่มคนเปราะบาง” ผู้ที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงที่รายได้ยังไม่เพียงพอ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความยากลำบากในการดำรงชีพ และความสามารถในการชำระหนี้สิน 

ดังนั้น นอกเหนือจากการสร้างโอกาสให้เกษตรกรไทยแล้ว รัฐบาลจะต้องหามาตรการที่จะปกป้อง ป้องกัน และรองรับการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และอาหารที่จะอยู่กับคนไทยและประเทศไทยต่อไปอีกช่วงเวลาใหญ่ๆ และไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มีงบประมาณ กระทรวงการคลังต้องหาหนทางประคับประคองคนเหล่านี้ให้อยู่รอดไปจนกว่า “วิกฤตเศรษฐกิจไทย” จะบรรเทาลงได้

อย่าให้เกิดเหตุการณ์ที่ว่า ประเทศไทย ประเทศที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำขนาดใหญ่ แต่คนไทยไม่มีจะกิน