จับตาทิศทางค่าเงิน-ตลาดทุน รอลุ้นผลการลงนามการค้าสหรัฐ-จีน

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับมาแข็งค่าปลายสัปดาห์ หลังจากทรงตัวในกรอบแคบๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะอ่อนค่าลงแตะระดับ 30.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือน สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นในตะวันออกกลาง หลังมีรายงานข่าวระบุว่า อิหร่านโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก เพื่อเป็นการตอบโต้ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในช่วงก่อนหน้านี้ 

อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงติดลบกลับมาบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ หลังสหรัฐฯ แถลงตอบโต้อิหร่านด้วยวิธีการคว่ำบาตร ไม่ใช่ปฏิบัติการทางการทหาร ซึ่งทำให้ตลาดคลายความกังวลต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลางลง และเปลี่ยนจุดสนใจกลับไปที่การเตรียมลงนามดีลการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนในช่วงกลางเดือนม.ค. และในวันศุกร์ (10 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 ม.ค.2563)

ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยผันผวนตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,580.63 จุด ลดลง 0.90% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 63,374.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.82% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 2.51% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 303.75 จุด  

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 ม.ค.2563) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,550 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,595 และ 1,600 จุด ตามลำดับ ส่วนธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 4/62 ของบริษัทจดทะเบียนไทย สถานการณ์หลังการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯ-จีน สถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงประเด็น BREXIT 

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของยูโรโซน รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/62 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนธ.ค.ของจีน