จับตาครม.วันนี้ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว30 ปี-ค่าโดยสาร 65บาทตลอดสาย

ครม. จ่อไฟเขียวขยายสัมปทานบีทีเอส 30 ปี คุมเดินรถสายสีเขียวข้ามศตวรรษ จนถึงปี 2602 เก็บค่าโดยสาร 15-65 บาท พร้อมช่วยจ่ายหนี้ กทม. พ่วงรับผิดชอบค่าธรรมเนียม ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ 4.4 หมื่นล้าน ชี้ต้องเร่งทำให้ชาวบ้านได้รับความสะดวก ไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถกลางทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 13 ส.ค.นี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เสนอเรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) ของกระทรวงมหาดไทยให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ โดยให้มีการขยายเวลาร่วมลงทุนโครงการฯ เพิ่มเติมอีก 30 ปี จากเดิมสิ้นสุดปี 2572 เป็นสิ้นสุดปี 2602 เพื่อให้ทันตามแผนการเปิดให้บริการเดินรถไฟสายเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ มีความต่อเนื่องในการเดินทาง โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายขบวนรถเนื่องจากสามารถเดินทางยาวในระยะทาง 66.4 กิโลเมตร(กม.)จากสัญญาเดิมระยะทางจะมีเพียง 23.5 กิโลเมตร( กม.) เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัย และค่าโดยสารที่เหมาะสม  

สำหรับในรายละเอียดของสัญญา ได้ระบุถึงผลตอบแทน ที่ผู้รับสัมปทานจะต้องชำระผลตอบแทนให้แก่กรุงเทพมหานคร มีดังนี้ ภาระค่างานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2  ภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสำหรับภาระหนี้เงินกู้ที่มีต่อกระทรวงการคลังไม่เกิน 44,429 ล้านบาท  ภาระส่วนต่างระหว่างค่าจ้างการให้บริการเดินรถ ส่วนต่อขยายที่ 1และ 2 กับรายได้ค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2และค่าตอบแทนเพิ่มเติม ภาระค่าจ้างการให้บริการเดินรถ คงค้างของส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ก่อนวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลบังคับใช้ ภาระค่าตอบแทนเพิ่มเติมจำนวนเท่ากับ  5% ของรายได้ค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2

นอกจากนี้ช่วงระหว่างปี 2573- 2602 ผู้รับสัมปทานจะแบ่งรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดิม คือตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.2572 จนถึงวันที่ 4 ธ.ค.2602 ดังนี้  ระยะเวลา 15 ปีแรก ( 2572- 2587) อัตรา  10% ของรายได้ค่าโดยสาร  ระยะเวลา 10 ปีต่อมา ปี 2488-2597 อัตรา 15% ของรายได้ค่าโดยสาร  และระยะเวลา 5 ปีสุดท้าย ปี 2598 -2602 อัตรา 25% ของรายได้ค่าโดยสาร  และหากผลตอบแทนของผู้รับสัมปทาน เกินกว่า 9.60% ผู้รับสัมปทานก็จะแบ่งกระแสเงินสดสุทธิต่อผู้ถือหุ้น ในส่วนที่ทำให้ผลตอบแทนเกิน ให้แก่กรุงเทพมหานครเพิ่มเติมด้วย

ส่วนหลักเกณฑ์การปรับเพดานค่าโดยสาร กำหนดใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ เพียงอย่างเดียว โดยอัตราค่าโดยสารเส้นทางหลัก ระหว่างปี 2562 ถึง 4 ธ.ค.2572 กำหนดเป็น 15+ 1+ 4 (X-๑) ( X คือจำนวนสถานี) สูงสุดไม่เกิน 44 บาท โดยจะปรับค่าโดยสารได้ทุก 24 คือน ส่วนโครงสร้างค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ปี 2562-2602 และเส้นทางหลัก ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2572- 2602 กำหนดเป็น 15+ 3X (X คือจำนวนสถานี) โดยราคาสูงสุดไม่เกิน 65 บาท โดยจะปรับอัตราค่าโดยสารทุก ๆ 24 เดือน  

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้รับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดเส้นทางซึ่งจะต้องรับภาระหนี้จากการโอนโครงการรวมถึงค่าบริหารจัดการเดินรถ ดังนั้น จึงได้ปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ชาติ  ซึ่งกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดเส้นทางได้อย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน   

ขณะเดียวกันยังกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโชน์จากค่ำโดยสารรวมถึงหลักเกณฑ์อื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และดำเนินการเจรจากับผู้รับสัมปทานเดิม และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการได้ดำเนินการเจรจาและจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนเสร็จแล้ว  และผ่านการตรวจร่างสัญญาจากสำนักงานอัยการสูงสุดเรียบร้อย

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า การเจรจาดังกล่าวถือว่า บีทีเอส ทำดีที่สุดและทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะประชาชนที่จะได้รับประโยชน์สุงสุด เนื่องจากค่าโดยสารจะลดลงจากเดิิมค่าโดยสายตลอดสายที่ 158 บาท เหลือเพียง 65 บาทตลอดสายเท่านั้นขณะเดียวกันการเดินทางก็สะดวกไม่ต้องเปลี่ยนรถ นอกจากนั้น ในส่วนของ กทม.ก็จะไม่เป็นภาระหนี้สินที่ต้องให้ภาครัฐรับผิดชอบ