จัดการหนี้บ้านอย่างไร ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง รวม 0.5% และคาดกันว่าจะปรับขึ้นอีกอย่างน้อยที่สุด 0.25% อย่างแน่นอนในการประชุม กนง.ครั้งสุดท้ายของปีในช่วงเดือนธันวาคมนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาจะเริ่มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อดอกเบี้ยนโยบายขึ้น แน่นอนว่า จะต้องกระทบอัตราเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ให้ปรับขึ้นตามไม่มากก็น้อย และกระทบต่อภาระการผ่อนหนี้ของประชาชน และภาระหนี้ที่สำคัญที่สุดของคนส่วนใหญ่ก็คือ “การผ่อนส่งบ้าน” 

เมื่อดอกเบี้ยหลักของธนาคารพาณิชย์ขยับเพิ่มขึ้น  แน่นอนว่า ในที่สุดจะกระทบถึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านให้สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านวารสาร BOT​ พระสยาม Magazine ฉบับที่ 3/256​​​​​​5 (เดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน)​​​​​ ในคอลัมน์ Financial Wisdom จึงได้เขียนบทความเรื่อง “จัดการหนี้บ้านอย่างไร ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น”สำหรับ “ลูกหนี้สินเชื่อบ้าน” โดยเฉพาะ ซึ่งเห็นว่าน่าสนใจ และนำมาเล่าสู่ต่อกันผ่าน “เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “ ในครั้งนี้

เมื่อดอกเบี้ยขึ้น ลูกหนี้สินเชื่อบ้านกลุ่มใดจะได้รับผลกระทบบ้าง และจะมีวิธีไหนมาช่วยลดภาระดอกเบี้ย รวมถึงมีเทคนิคอะไรบ้างที่จะช่วยให้ปลดหนี้บ้านได้เร็วขึ้นด้วย เรามาติดตามคำตอบและคำแนะไปด้วยกัน

ทั้งนี้  ลูกหนี้ “สินเชื่อบ้าน ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้จะมีอยู่ 2 กลุ่ม  ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบแตกต่างกันเมื่ออัตราดอกเบี้ยหลักของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้น  คือ

กลุ่มที่ 1. กลุ่มที่ได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) ลูกหนี้กลุ่มนี้แม้ดอกเบี้ยจะขึ้นจะไม่ได้รับผลกระทบทันทีมากนัก 

เนื่องจากยังคงถูกคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปตามสัญญา โดยสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะกำหนดให้เป็น fixed rate ในช่วงแรก เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ 3% ใน 3 ปีแรก แล้วค่อยปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว ทำให้ยังพอมีเวลาปรับตัวและสามารถหาเงื่อนไขเงินกู้ที่ดีก่อนที่ดอกเบี้ยตามสัญญาจะเปลี่ยนไปเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว

ขณะที่ ลูกหนี้กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ไช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบเมื่ออัตราดอกเบี้ยในสัญญาถึงกำหนดปรับเป็น Floating Rate 

เนื่องจากค่างวดที่ชำระในแต่ละเดือนจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น หากจ่ายค่างวดบ้านเป็นจำนวนเงินเท่ากันทุกเดือน เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นก็จะเหลือเงินมาตัดชำระเงินต้นได้น้อยลง

ดังนั้น ลูกหนี้ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวในการส่งบ้าน อาจจะต้องเตรียมตัวปรับเปลี่ยนสัดส่วนการใช้จ่าย และชำระหนี้บ้านให้เหมาะสมกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในอนาคต

แต่ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย แบบคงที่หรือลอยตัว และอยากลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้หรือหมดหนี้บ้านไวขึ้น  Financial Wisdom แนะนำให้ลองทำตามวิธีเหล่านี้

1. จัดการรายรับ–รายจ่าย ได้แก่ ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้

วิธีนี้เป็นวิธีเบสิคง่ายๆ ให้เรามีเงินคงเหลือในแต่ละเดือนเพิ่มมากขึ้นนั้นเอง (เงินคงเหลือ = รายรับ – รายจ่าย – ภาระผ่อนหนี้) พอมีเงินเหลือมากขึ้น เราก็สามารถนำเงินที่มีไปโปะหนี้เพิ่ม เพื่อปลดหนี้ให้เร็วขึ้น และยังช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายอีกด้วย

ซึ่งการปรับลดค่าใช้จ่าย อาจเริ่มจากการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ อย่าง ค่าลอตเตอรี่ หรือ ค่ากาแฟ ไม่ต้องอดแค่ลดลงก็มีเงืนเหลือ เช่น จากซื้อทุกวันเหลือสัปดาห์ละครั้ง หรือลดจำนวนเงินที่จ่ายต่อครั้งลง นอกจากนี้ อาจจะมองหารายได้เสริมเพิ่มเติมจากสิ่งที่เราถนัดหรือสนใจด้วย เช่น ขายของออนไลน์ ขายเสื้อผ้า ฯลฯ

2. เจรจาเจ้าหนี้หรือหาเงื่อนไขใหม่ที่ดีกว่า ได้แก่ เจรจาขอลดดอกเบี้ย

ขอให้เข้าใจว่า การเจรจาต่อรองขอลดดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้และควรทำ ไม่ต้องกลัวหรืออายที่จะต่อรอง ปรับโครงสร้างหนี้

เพราะหนี้บ้านส่วนใหญ่จะมีอัตราดอกเบี้ย 2 ช่วง คือ ดอกเบี้ยต่ำในช่วงแรกเพื่อจูงใจลูกค้า และมักจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ 3% ใน 3 ปีแรก และช่วงที่สองเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวซึ่งมักจะแพงกว่าช่วงปีแรก ๆ เช่น ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR ) จนสิ้นสุดอายุสัญญา 

เมื่อเราผ่อนไประยะหนึ่งจนใกล้ถึงช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาจะคิดแบบลอยตัว เราก็สามารถเข้าไปยื่นเรื่องเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับลดอัตราดอกเบี้ย เช่น ปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวได้ ซึ่งจะช่วยให้ภาระดอกเบี้ยไม่สูงขึ้นไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทั้งยังช่วยปลดหนี้ได้เร็วขึ้นกว่าการจ่ายตามสัญญาไปเรื่อย ๆ โดยไม่ไปขอลด

ดังนั้น ใครมีสินเชื่อบ้านอย่ารอช้า รีบดูสัญญาว่าใกล้ช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังจะหมดโปรโมชันหรือถูกปรับขึ้นหรือยัง ถ้าใกล้แล้ว อย่าลืมไปยื่นเรื่องเจรจาขอลดดอกเบี้ยกัน 

โดยขอแนะนำว่า ควรเตรียมตัวอย่างน้อย 1 เดือนก่อนที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในสัญญาจะปรับเป็นแบบลอยตัว ซึ่งเราสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันการเงินที่ใช้บริการว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เพื่อประกอบการยื่นเรื่องให้สถาบันการเงินพิจารณา

3.Refinance ย้ายสินเชื่อบ้านไปสถาบันการเงินใหม่

อีกกรณีถัดมา หากเราไม่ขอลดหย่อนกับธนาคารเดิมที่เรากู้ ก็ยังสามารถที่จะ refinance ไปยังสถาบันการเงินอื่นที่ให้อัตราดอกเบี้ยถูกกว่าสถาบันการเงินที่เราใช้บริการอยู่ได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ก่อนจะ refinance อย่าลืมคำนึงถึงต้นทุนแฝงต่าง ๆ ด้วยว่าคุ้มกับการ refinance หรือไม่ เช่น ค่าเบี้ยปรับชำระก่อนครบกำหนด (prepayment fee) ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมจดจำนอง หากใครที่ต้องการ refinance และกำลังมองหาเงื่อนไขที่ดีกว่าสถาบันการเงินที่ใช้อยู่เดิม สามารถศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่ โปรแกรมเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์  

จะเห็นได้ว่า การเจรจาขอลดดอกเบี้ยและการ refinance จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย และชำระเป็นเงินต้นในแต่ละเดือนได้มากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เราปลดหนี้ได้เร็วขึ้นด้วยนั่นเอง

ดังนั้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อภาระหนี้บ้านของเราก็จริง แต่หากมีการจัดการที่ดี  Financial Wisdom มองว่า “หนี้บ้าน” ก็จะไม่ใช่ปัญหาหนักอีกต่อไป กลายเป็นทรัพย์สินและสถานที่ที่อบอุ่นสำหรับทุกคนในครอบครัวไปตราบนานเท่านาน