จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ“ฮ่องกง”ล่มสลาย

  • นักธุรกิจชี้นี่คือสงครามยุคใหม่
  • ทำลายศูนย์กลางการเงินใหญ่
  • สันนิษฐาน “สหรัฐ” อยู่เบื้องหลัง

นับตั้งแต่เริ่มการชุมนุมต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่ลุกลามบานปลายเป็นประเด็นเรียกร้องประชาธิปไตย ของกลุ่มผู้ชุมนุม จนเกิดการปิดสนามบินสากลนานาชาติ เช็ก แล็ป ก็อก ของ ฮ่องกง (Chek Lap Kok Airport) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา 

นั่นทำให้ฮ่องกงเป็นอัมพาตด้านการขนส่ง ทั้งใน และต่างประเทศอย่างหนัก และลบภาพการเป็นฐานที่มั่นของศูนย์กลางทางการเงิน การลงทุน และการค้าในภูมิภาคลงไปอย่างฉับพลัน

รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษศาสตร์การเมืองให้ความเห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บนเกาะฮ่องกงในขณะนี้ว่า ไม่ว่าบท สรุปจะออกมาในแบบไหนก็ตาม ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคเอเซีย และเป็นประตูสู่จีน ได้ถูกลดทอนลงไปอย่างมาก เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลจีนแสดงบทบาทที่ชัดเจนในการเข้ามาบริหารจัดการการเมืองภายในเกาะฮ่องกงมากขึ้น

Credit : AP

ความขัดแย้งก็ย่ิงดูจะบานปลายออกไป

“ปัญหาความขัดแย้งในฮ่องกง เริ่มต้นจากการคัดค้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่ประชาชนชาวฮ่องกงมองว่า เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพขัดกับข้อตกลงระหว่างจีน และอังกฤษที่มีพันธสัญญาในการส่งมอบเกาะฮ่องกง เข้าสู่การปกครองของจีน โดยมีข้อตกลงในเรื่องที่จีนจะต้องยอมรับสถานภาพของฮ่องกงในฐานะของเขตบริหารพิเศษ หรือ Special Administration Region : SAR ซึ่งต้องมีอิสระทางด้านการปกครอง และตุลาการในแบบของอังกฤษ…

  ถึงแม้รัฐบาลจะยอมแช่แข็งกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้ แต่กลุ่มผู้ชุม นุมก็ยังคงไม่ยอมรับ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวยังคงค้างอยู่ในวาระการประชุมของรัฐสภาของฮ่องกง ไม่ได้ถูกถอนออกมาเลย ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่หยุด การเรียกร้อง และการเรียกร้องก็มีมากขึ้น 

โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของการ เลือกตั้งทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากระ บอบการปกครองในปัจจุบันที่ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบผ่านตัวแทนที่มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง 35 คน และอีก 35 คน มาจากตัวแทนในสาขาอาชีพต่างๆ ทำให้การชุมนุมประท้วงบานปลาย และเพิ่มจำนวนผู้ชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ”

รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมประท้วงจากการยกเลิกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตอนนี้มีข้อเรียกร้องถึง 5 ข้อ คือ การยกเลิกกฎ หมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน, เรียกร้องให้ นางแคร์รี หล่ำ 1 ใน 4 ของผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง ถึงแม้ว่า นางหล่ำ จะยอมเลื่อนร่างกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนออกจากการพิจารณาไปอย่างไม่มีกำหนดก็ตาม 

กลุ่มผู้ชุมนุมให้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการทำงานของตำรวจในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง ให้ปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม และห้ามเรียกพวกเขาว่า เป็นผู้ก่อการจลาจล ทั้งยังเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไปด้วย

ข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ จัดเป็นข้อเรียกร้องที่เกินจากความขัดแย้งเดิม และเป็นข้อเรียกร้องที่รัฐบาลจีนไม่สามารถที่จะยอมรับได้ ทำให้จีนแสดงท่าทีที่แข็งกร้าว ล่าสุด คือ การส่งกองกำลังตำรวจกว่า 12,000 คนไปซ้อมปราบจลาจลที่เมืองเสิ่นเจิ้นใกล้ชายแดนฮ่องกง ทำให้เกิดความกังวลเรื่อง

Credit : Reuters

ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

รศ.ดร.สมชาย วิเคราะห์ว่า จีนไม่อยากที่จะใช้กองกำลังปราบปรามการจลาจลในฮ่องกง เพราะไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้นในเกาะฮ่องกงที่ถือเป็นประตูเศรษฐกิจสำคัญสู่ประเทศจีน แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าปล่อยให้การชุมนุม ประท้วงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ก็จะย่ิงทำให้สถานการณ์ในฮ่องกงแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสะท้อนถึงความอ่อนแอของรัฐบาลจีน

“ส่วนตัว คือ จีนต้องพยายามลดแนวร่วมของผู้ชุมนุม ทางออกที่ดีที่สุดคือ ถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกไป เพื่อลดจำนวนผู้ชุมนุมประท้วง ถึง แม้จะทำให้รัฐบาลจีนถูกมองว่า อ่อนแอ ก็ตาม 

 แต่การเข้าไปปราบรามในช่วงเวลานี้ซึ่งจะครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์จัตุ รัสเทียนอันหมิน และ 70 ปีของการเป็นคอมมิวนิสต์ ก็จะยิ่งถูกนานาชาติโจมตี จึงเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจีนจะตัดสินใจว่า จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนี้” รศ.ดร.สมชาย กล่าว

แต่ไม่ว่าผลของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะมีบทสรุปออกมาอย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือของศูนย์กลางทางการเงิน และการเป็นเทรดเดอร์ใหญ่ของฮ่อง กงของภูมิภาคเอเชีย ก็ได้ถูกบั่นทอนไปแล้ว 

และนับตั้งแต่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นดัชนีฮั่งเส็ง ปรับตัวลดลงจาก 28, 550.43 จุด เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ลงมาอยู่ที่ 25,302.28 จุดในวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา หรือลดลงไปถึง 3,248.15 จุด หรือลดลงไปถึงร้อยละ 11.37 ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหายไปถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

Credit : AFP

ยังไม่นับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่ลดลงจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการปิดสนามบินนานาชาติของฮ่องกงที่มีสายการบินมากกว่า 200 สายบินขึ้นลง และมีผู้โดยสารติดค้างอยู่ในสนามบินเพียง 2 วันสูงถึง 55,000 คน ประเมินมูลค่าความเสียหายของอุตสาหกรรมการบินของฮ่อง กงแล้ว ไม่น่าจะต่ำกว่า 2,400 ล้านบาท หรือ กว่า 620 ล้านเหรียญฮ่องกง ขณะที่อุตสาหกรรมการบินของฮ่องกงสร้างมูลค่าจีดีพีให้ฮ่องกงสูงถึงร้อยละ 3.5% โดยจีดีพีจีนในปี 2018 อยู่ที่ 46,076.53 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จัดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากสิงคโปร์

 รศ.ดร.กิตติ ประเสิรฐสุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกงได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะในปัจจุ บันมีเมืองที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน และการลง ทุน ที่เป็นประตูไปสู่ประเทศจีน อย่างเมืองเซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น หรือ การพัฒนาพื้นที่ มาเก๊า กวางโจว และฮ่องกง เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ของจีน 

เรียกว่า ถึงจะไม่เกิดเหตุชุมนุมประท้วง ฮ่องกงก็ถูกลดบทบาทในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค และประตูสู่โลก และประเทศจีนอยู่แล้ว ยิ่งเกิดเหตุความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นต่อฮ่องกงสำหรับนักลงทุนลดลง ไม่ว่าบทสรุปของเหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม

ในขณะที่ สิงคโปร์ก็อาจจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ เพราะปัจจุบันสิงคโปร์ก็ถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคเอเชียอยู่แล้ว  

“ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับรัฐบาลจีน คือ ต้องประนีประนอมเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นในฮ่องกง การถอนกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกไป น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพื่อลดความขัดแย้ง แทนการใช้กำลัง ซึ่งถ้าใช้กำลัง จีน ก็จะถูกโจมตีจากสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ซึ่งจะทำให้ปัญหาเรื่องการค้าที่เป็นประเด็นระหว่างจีน และสหรัฐอเมริกา ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น”รศ.ดร. กิตติ กล่าว

ในขณะที่บทวิเคราะห์ของ สำนักข่าว CNBC ระบุว่า การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือนในฮ่องกง กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ การค้า การลงทุนในฮ่องกงโดยตรง และในระยะสั้น สิ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ และนักเศรษฐศาสตร์วิตกกังวล คือ เศรษฐกิจของฮ่องกงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย  ส่วนในระยะยาวนั้นฮ่องกงจะสูญเสียชื่อเสียงในฐานะเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคที่มีความน่าเชื่อถือในสายตาบรรดานักลงทุนต่างชาติ 

บรรดา นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นว่า เหตุผลที่วิตกว่า เศรษฐกิจของฮ่องกงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพราะการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐ และจีน กำลังทำสงครามการค้าระหว่างกัน ทำให้ยอดส่งออกสินค้าของฮ่องกงปรับตัวลดลง ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงตลอดทั้งปีปรับตัวลดลงไปด้วย

ล่าสุดธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮ่อง กงปรับตัวลดลง 6.7% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 สื่อชั้นนำของฮ่องกง อย่าง South China Morning Post ระบุว่า ยอดขายของบริษัทค้าปลีกในฮ่องกงปรับตัวร่วงลง 50%-70% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมียอดขายต่ำกว่า 300 เหรียญฮ่องกง 

Credit : Reuters

แต่มีภาระค่าเช่าต่อเดือนมากถึง 20,000 เหรียญฮ่องกงต่อเดือน นอก จากค้าปลีกจะย่ำแย่ลงแล้ว กระแสเงินลงทุนในตลาดหุ้นของฮ่องกงที่มีมูลค่ารวม 4.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่ต่างจากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงที่ปรับตัวลง

“นี่ไม่ได้เป็นหายนะในระยะสั้น ทุกคนพากันพลาดนัดหมาย และการวางแผนทางธุรกิจ การประชุมทางธุรกิจก็ไม่สามารถทำได้ แต่ในระยะยาว เมื่อคิดถึงบรรดาบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในฮ่องกงแล้ว พวกเขากำ ลังคิดที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ไปตั้งที่สิงคโปร์ หรืออาจจะย้ายไปไต้หวัน หรือกรุงโตเกียว”นายสตีฟ ออร์ลิน ประธานคณะกรรมการด้านความสัมพันธ์สห รัฐ-จีนให้ความเห็นกับสำนักข่าวต่างประเทศ

ไม่ว่าการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ของฮ่องกงจะปิดฉากอย่างไรก็ตาม บทสุดท้ายของการต่อสู้ครั้งนี้คือ ฮ่องกงได้สูญเสียศักยภาพในการเป็นผู้นำและศูนย์กลางทางการเงินในระดับภูมิภาคไปอย่างแน่นอน และจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่ไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลฮ่องกง และการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของรัฐบาลจีนในเกาะฮ่องกง หลังจากส่งผ่านฮ่อง กงจากอังกฤษคืนแก่จีนนับจากปี 1997 ถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 22

ยังมีการตั้งคำถามกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ และบรรดานักธุรกิจของเอเชียด้วยว่า นี่คือสงครามยุคใหม่ของโลกตะวันตกที่จู่โจมเข้ามายังประเทศยักษ์ใหญ่ในฐานะลูกพี่ของประเทศเอเชียซึ่งกำลังจะเข้าไปแทนที่ความเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแทนสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปหรือไม่ 

โดยเฉพาะเมื่อประเทศจีน มีทรัพยากรมนุษย์มากกว่า มีเทคโนโลยีที่ล้ำไปข้างหน้าขนิดที่เทียบทันกับสหภาพยุโรปในหลายประเทศได้ ไม่ใช่เฉพาะกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

ความพยายามจะให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ แห่งสหรัฐซึ่งแสดงออกมาในรูปของความเห็นใจ และแสดงความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจ แก้ปัญหาเรื่องนี้ของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง แห่งจีนนั้น ดูเหมือนจะเป็นยาพิษที่พยายามจะป้อนให้ประธานาธิบดีสีกลืนกินมันเข้าไป โดยมีสหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป รอการประณามอยู่หากการตัดสินใจนั้น ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนขึ้น

ที่สำคัญ ฮ่องกงจะเป็นจุดอ่อนอีกประการที่ฝ่ายตะวันตกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีในสงครามการค้าเพื่อลดบทบาทของจีนลงทีเดียวพร้อมๆกัน เพราะทุกฝ่ายเช่ือว่า โลกตะวันตกหนุนหลังบรรดาผู้ชุมนุมประท้วงอยู่

สำหรับประเทศไทย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในฐานะที่เขาเคยทำหน้าที่เป็น รมว.กระทรวงพาณิชย์ เขามีความเป็นห่วงว่า ความวุ่นวายบนเกาะฮ่องกงย่อมกระทบต่อการค้าขายโดยเฉพาะการส่งออกข้าวคุณภาพดีของไทยซึ่งปีหน่ึงๆทำรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาได้มาก 

ในขณะที่ฮ่องกงยังเป็นศูนย์กลางการค้าขาย เป็นเทรดเดอร์รายสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยค้าขายกับประเทศอื่นๆได้มากมาย

ที่ผ่านมา ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีก็ได้ลงนามความร่วมมือในการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างกันไปแล้วภายใต้โครงการ Greater Bay Area : GBA เขตเศรษฐกิจเชื่อมฮ่องกง มาเก๊า และเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงในมณฑลกวางตุ้งรวม 11 เมืองเพื่อขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน และเชื่อมโยงการลงทุนเข้าสู่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ  EEC

“ผมไม่คิดว่า เขตเศรษฐกิจใหม่อย่างเซี่ยงไฮ้ เส่ินเจิ้น หรือกวาวโจว ก็ดีจะมาแทนที่ยักษ์ใหญ่อย่างฮ่องกงได้ และไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้นที่จะได้รับผลประทบหากยักษ์ตัวนี้มีอันต้องล้มลง ผมคิดว่า ท่ัวโลกย่อมจะได้รับผล กระทบตามไปด้วย”

สำหรับการค้าระหว่างไทยและฮ่องกงในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเดิมทีคาดว่า การค้าระหว่างกันในปีนี้ หรือ 2562 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 

ในช่วงปี พ.ศ.2540 อันเป็นปีที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยนำทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศออกไปสู้ค่าเงินบาทจนหมดหน้าตัก 

Credit : AFP

ขณะที่การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจการเงินของประเทศเข้าตำรามือใครยาวสาวได้สาวเอากระท่ังทุกอย่างเดินมาถึงปากเหวเพราะทุกฝ่ายละเลยวินัยการเงิน และกู้หนี้ยืมสินต่างประเทศมาลงทุนเกินตัวมากมาย 

ช่วงเวลานั้น นักธุรกิจฮ่องกงจำนวนไม่น้อยปลอบใจพวกเราว่า ไม่ต้องห่วงว่าประเทศไทยจะล่มสลายหรอก เพราะมีทรัพย์ในดินเลี้ยงตัวได้มากมาย ไม่เหมือนฮ่องกงที่แม้จะเป็นประเทศที่ได้รับการเรียกขานว่า ศูนย์กลางทาง การเงิน และเทรดเดอร์รายใหญ่ แต่พวกเขาก็เป็นแค่คนกลางที่ซื้อมาขายไปไม่มีทรัพย์ในดินที่ทรงคุณค่าเหมือนประเทศไทย 

ฉนั้น ถ้าเกิดอะไรที่ร้ายแรงขึ้นกับฮ่องกง พวกเขาเกรงว่า ฮ่องกงจะล่มสลายไปในที่สุดเนื่องเพราะไม่มีส่ิงที่เรียกว่า พระเจ้าให้มาแม้แต่นิดเดียว นั่นเอง

Thejournalistclub Team