งานนี้ต้องชัด…“ชัชชาติ” ลั่นปมแก้ปัญหา ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ คืบหน้า มองเรื่องหนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่

  • ลั่นขณะนี้ได้รู้ประเด็นว่า จุดไหนมีปัญหา และต้องลงในรายละเอียดอย่างไร ต้องเจรจาว่า สามารถลดอะไรได้มากน้อยแค่ไหน
  • ต้องตรวจสอบสัญญาขบวนการว่าครบถ้วนหรือไม่หากไม่ครบต้องทำให้ครบ ก่อนที่จะเริ่มจ่ายหนี้
  • พูดชัดข้อมูลใดที่ประชาชนขอมา ให้ได้ก็ต้องให้ ลั่นประชาชนเป็นเจ้าของเงินที่ต้องจ่าย

วันนี้ (4 ก.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ขณะนี้การแก้ปัญหามีความคืบหน้าไปพอสมควร เพราะได้รู้ประเด็นแล้วว่า จุดไหนมีปัญหา และต้องลงในรายละเอียดระหว่างกรุงเทพธนาคม กับบริษัทเอกชน ที่จะต้องเจรจาว่า สามารถลดอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ในส่วน กทม.เอง ก็ต้องดูเรื่องหนี้เป็นหลักตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่าจะต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ได้ก่อน

ทั้งนี้ สำหรับหนี้ของเรามี 3 ส่วน คือ หนี้ระหว่าง กทม. กับรัฐ ตรงนี้ไม่ได้กังวลมาก เพราะถึงอย่างไรก็กระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา หนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และหนี้เรื่องค่าเดินรถโดยเฉพาะในส่วนสัญญาที่ 2 ซึ่งต้องดูว่าสัญญาขบวนการมันครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่ครบก็ต้องทำให้ครบเสียก่อนที่จะเริ่มจ่ายหนี้ เราก็ต้องเอาให้ชัดเจนเสียก่อน ทำอย่างตรงไปตรงมา และต้องไปดูเรื่องสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยาย ปี 2572-2585

“อย่างที่ตนบอกว่า อยากเปิดเผยให้ประชาชนทราบ แต่ต้องเอาเรื่องกฎหมายให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากในสัญญาเขียนไว้ว่าห้ามเปิดเผยต่อสาธารณะเว้นแต่กฎหมายบังคับ และบังเอิญว่าองค์กรผู้บริโภคขอมาแล้ว จะเอาตรงนี้เป็นจุดที่จะบอกว่าสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ โดยจะอ้างอิงจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวของสารราชการ ถ้าข้อมูลใดที่ประชาชนขอมาให้ได้ก็ต้องให้ เพราะประชาชนเป็นเจ้าของเงินที่เราต้องจ่ายเอกชนอยู่แล้ว เป็นเงินภาษีประชาชน และถ้าเปิดเผยได้จะสรุปให้เสร็จเลยว่า ค่าใช้จ่ายการเดินรถเป็นเท่าไหร่” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว คงไม่ต้องหารือกระทรวงมหาดไทยเนื่องจากเป็นสัญญาระหว่างกทม. คือ กรุงเทพธนาคม กับเอกชน

นอกจากนี้เมื่อถามว่า หากจะเปิดข้อมูลต้องให้คู่สัญญายินยอมด้วยหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า คงต้องปรึกษากันอีกครั้ง เพราะคู่สัญญาของกทม. ไม่ใช่บริษัทเอกชน เราต้องถามกรุงเทพธนาคมก่อน แล้วกรุงเทพธนาคมกับคู่สัญญาก็ไปว่ากันอีกที เพราะเราขอเอกสารในฐานะผู้ถือหุ้นของกรุงเทพธนาคม เราขอเอกสารในนามผู้ถือหุ้น โดยการเซ็นสัญญาเกิดขึ้นระหว่างกรุงเทพธนาคมกับเอกชน ไม่ใช่ กทม. เป็นคนเซ็น

แต่เราต้องรับผิดชอบ จึงต้องดูให้ละเอียดและได้สรุปตัวเลข และค่าใช้จ่ายไว้แล้ว เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นตัวเลขที่นำมาพิจารณาเรื่องค่าโดยสาร

“เราต้องเก็บค่าโดยสารให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่มีสัญญากับเอกชนไว้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายจึงมีความสำคัญ ฉะนั้นค่าใช้จ่ายจึงมีความสำคัญว่าเท่าไหร่ ดังนั้นเราจะบอกว่าค่าโดยสารจะ 20 บาท 30 บาท สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าเราจะต้องจ่ายเขาเท่าไหร่ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ” นายชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มผู้สื่อข่าวยังมีการสอบถามด้วยว่า จะใช้เวลาอีกนานหรือไม่ กว่าจะเคลียร์ตรงนี้ได้ นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะเรื่องนี้เริ่มปี 2572-2585 ยังมีเวลา ยกเว้นส่วนที่เดินรถในปัจจุบัน คือส่วนหนึ่งและส่วนสอง ส่วนหนึ่งคงแก้ไขอะไรได้ยาก เพราะมีสัญญาระหว่าง กทม. กับกรุงเทพธนาคม และกรุงเทพธนาคม กับเอกชน แต่ส่วนสอง เรามอบหมายกรุงเทพธนาคม แล้วกรุงเทพธนาคมไปจ้างเอกชน ก็ต้องมาดูความเชื่อมโยงว่าครบถ้วนหรือไม่ 

“ในส่วนนี้เรื่องเวลาจึงไม่ใช่เงื่อนไข ทั้งนี้เวลามีเงื่อนไขเดียวคือ เรื่องหนี้เพราะเป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยเดินอยู่ แต่เรื่องสัญญาเดินรถ จริงๆแล้วหัวใจคือสัญญาจ้างบีทีเอส เดินรถส่วนต่อขยาย ปี 2572-2585 ซึ่งปัจจุบันเรายังมีเวลาอีก 6-7 ปี” นายชัชชาติ กล่าว

เมื่อถามว่า เรื่องรถไฟฟ้าจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีได้เมื่อใด นายชัชชาติ กล่าวว่า ก็ต้องแล้วแต่ ครม. แต่ทางเราก็ต้องให้ความเห็นประกอบไป เชื่อว่าอีกไม่นาน เพราะตอนนี้ทุกอย่างเริ่มชัดเจนแล้วเพราะทำงานมา 1 เดือนแล้ว

อีกทั้งเมื่อถามว่า กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เคยระบุว่า มีความหนักใจตอนนี้เบาใจขึ้นบ้างหรือยัง นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่หนักใจคือ หนักใจว่าภาระตกไปที่ประชาชน เพราะมีเงื่อนไขของการเซ็นต์สัญญาอยู่แล้วจะเป็นอย่างไร จะพูดคุยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางอย่างเราไม่ได้เป็นคนทำ แต่สัญญาเซ็นไปแล้ว ก็จะมีขบวนการของกฎหมายอยู่ว่าจะทำอย่างไร