คาด ‘ค่าเงินบาท’สัปดาห์หน้า 34.00-34.50 บาท ต้องจับตาทิศทางเงินทุนต่างชาติ

  • รอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.
  • ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2566

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์จากโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุม FOMC เดือนพ.ค. หลังข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังมีสัญญาณดีต่อเนื่อง นอกจากนี้การอ่อนค่าลงของเงินเยนและเงินหยวนก็กดดันทิศทางสกุลเงินเอเชียในภาพรวมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงกลางสัปดาห์ตามราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากการขายเพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ

ในวันพุธที่ 12 เม.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 เม.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 10-12 เม.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยเล็กน้อยที่ 420 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตร 3,468 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 3,229 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 239 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (17-21 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.00-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางอินโดนีเซีย และการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนเม.ย. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของยูโรโซนและอังกฤษ ข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนเม.ย. ของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2566 การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.