“คีรี”สุดจะทน!มั่นใจโดนรัฐบาลแกล้งพร้อมฟ้องกราวรูดคนที่ทำ BTS เสียหายปม ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาฮั้วสัญญาเดินรถสายสีเขียว!

“คีรี” ประกาศกร้าว! พร้อมฟ้องกราวรูด ผู้ที่ทำให้ BTS เสียหายปม ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาฮั้วทำสัญญาจ้างเดินรถสายสีเขียวจนถึงปี 85 มั่นใจโดนรัฐบาลกลั่นแกล้ง เหตุ BTS ยื่นฟ้องประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เผยเอกสารป.ป.ช.ควรเป็นเรื่องลับทางราชการ แต่กลับถูกปล่อยสู่สื่อมวลชนทำหุ้น BTS ร่วงติดฟลอร์ พร้อมแจงยิบขั้นตอนที่มาของสัญญา 

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์  จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยถึงกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แจ้งข้อกล่าวหาตนเอง  นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือ BTS / BTSC ว่า กระทำทุจริตในการทำสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ผู้ว่าจ้าง ในฐานะวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับ BTSC ผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ในวงเงินกว่า 190,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้มั่นใจว่า กรณีดังกล่าวเป็นการกลั่นแกล้งจากรัฐบาล เพราะพิจารณาจากเงื่อนเวลาแล้ว เรื่องนี้มีการยื่นร้องไปยังป.ป.ช.ในปี 2555 พร้อมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งในปี 2556 DSI และสำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาไม่ฟ้อง BTSC ขณะที่ทาง ป.ป.ช.เพิ่งจะลงมีมติแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องนี้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ซึ่งผ่านมาเกือบ 11 ปีแล้ว เหตุใดเพิ่งมาแจ้งในเวลานี้ 

ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ BTSC ยื่นฟ้องร้องการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 139,127 ล้านบาท ที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินในเอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP) หลังจากเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคาไปแล้ว จากนั้นทางกระทรวงคมนาคมก็จะคอยขัดแย้งในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาโดยตลอด โดยเฉพาะการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวทั้งระบบ ที่ยังไม่สามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ และทำให้ BTS ต้องชำระค่าใช้จ่ายต่างๆในการเดินรถเอง จนปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นหนี้ BTS สะสมเกือบ 50,000 ล้านบาทแล้ว  เสมือนเป็นการกลั่นแกล้ง BTS ให้เกิดปัญหาในการเดินรถ 

นอกจากนี้การที่เอกสารการแจ้งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.หลุดออกมาเปิดเผยแก่สื่อมวลชนนั้น สามารถทำได้หรือไม่ เพราะเป็นเอกสารลับทางราชการ ซึ่ง BTS อยากถามกลับไปยัง ป.ป.ช.ว่ามีผู้ใดจงใจปล่อยเอกสารออกมาให้สื่อมวลชนหรือไม่ และมีจุดประสงค์ใดที่ทำเช่นนี้ เพราะเป็นการสร้างความเสียหายแก่ BTS และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยสื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวนี้ในช่วงวันเสาร์ที่ 11-อาทิตย์ที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา พอเปิดทำการในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2566 ราคาหุ้น BTS ก็ร่วงลงจนติดฟลอร์ทันที โดยมีราคาต่ำสุดที่ 5.40 บาท จากนั้นราคาจึงค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากนักลงทุนเริ่มหายตื่นตระหนกแล้ว เพราะการแจ้งข้อกล่าวหานั้น ถือว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังไม่ถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดี และมีสิทธิที่จะคัดค้านเพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย

“ถามว่าเจอแบบนี้ผมจะฟ้องกลับหรือไม่ ผมบอกเลยว่าใครที่ทำให้ BTS เสียหาย เราฟ้องแน่นอน แต่จะเป็นใคร เมื่อไหร่ อย่างไร เราจะให้ฝ่ายกฎหมายเราพิจารณาก่อน” นายคีรี  กล่าว  

นายคีรี  กล่าวต่อว่า ขณะนี้ BTS ได้รับเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช.อย่างเป็นทางการแล้ว แต่สาระสำคัญในหนังสือจาก ป.ป.ช.นั้นยังไม่มีรายละเอียดเพียงพอ เพราะไม่มีการแจกแจงใดๆว่าที่กล่าวหาว่า BTS ฮั้วทำสัญญานั้น เป็นการฮั้วกับใคร ช่วงเวลาใดเพราะโครงการที่ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหานั้นผ่านผู้ว่า กทม.มาหลายคน มีลักษณะอย่างไรที่เรียกว่าฮั้ว และมีหลักฐานอะไรยืนยัน ดังนั้น BTS จะทำหนังสือส่งกลับไปยัง ป.ป.ช.เพื่อขอให้แจกแจงรายละเอียดแก่ BTS ให้ชัดเจน เพื่อที่ BTS จะได้นำส่งข้อมูลชี้แจง แก้ต่างแก่ ป.ป.ช.ได้อย่างถูกต้องชัดเจน 

ด้านนายสุรพงษ์  กล่าวว่า กรณีที่ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาว่า กทม.ทำสัญญาจ้าง BTS เดินรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) 2. สายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) และ 3.ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี โดยให้สัญญาว่าจ้าง BTSC เดินรถทั้ง 3 เส้นทางดังกล่าว ไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585 เป็นการ เลี่ยงการดำเนินการตามพ.ร.บว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และเอื้อประโยชน์แก่  BTS รายเดียวนั้น ขอยืนยันว่า การทำสัญญาจ้างเดินรถดังกล่าว ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีการฮั้วประมูลใดๆ  ซึ่ง BTS พร้อมชี้แจงแก่ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ขอเรียงลำดับขั้นตอนของการทำสัญญาจ้างเดินรถดังกล่าวว่า สายสีเขียวส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทและสายสีลม มีการริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2543 สมัยนายพิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่า กทม. ที่มีการเสนอ ครม.ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 เพื่อขอดำเนินโครงการแบบรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งครม.ให้การอนุมัติ แต่เมื่อเปิดประมูลกลับไม่มีผู้สนใจเข้าแข่งขัน ทางกทม.จึงเสนอครม.อีกครั้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2543 (สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่า กทม.) ขอคัดเลือกผู้ลงทุนโดยวิธีเจรจากับ BTSC ซึ่งครม.ให้การอนุมัติ แต่กทม.เจรจาให้ BTSC ลงทุนแบบ 100% ซึ่งขณะนั้น BTSC ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ จึงได้ปฏิเสธไป จึงถือว่าสิ้นสุดตามกระบวนการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 

จากนั้นในปี 2548 สมัยนายอภิรักษ์ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่า กทม.ได้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และมาเจรจากับ BTSC ให้รับจ้างเดินรถ ซึ่ง BTSC ทราบว่าก่อนการจ้างในครั้งนี้ กทม.ได้มีการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2550  ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยโดยสรุปว่า การที่ กทม. มอบหมายให้ KT มาว่าจ้างเอกชนเดินรถ โดยได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน มิใช่การร่วมลงทุนกับเอกชน และ BTS เข้าใจว่าการทำสัญญาครั้งนี้ดำเนินการได้ภายใต้พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร