ความรู้เบื้องต้น “ดิจิทัล เคอเรนซี”

กำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่คนไทยให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ “ดิจิทัล เคอเรนซี  (Digital Currency) หรือเงินสกุลดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คริปโคเคอเรนซี” ซึ่งราคาผันผวนเพิ่มขึ้น และลดลงอย่างรวดเร็ว ล่อตาล่อใจให้ “นักลงทุน” เข้าไปลงทุนทำกำไรอย่างยิ่ง แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนยังสงสัย และไม่เข้าใจว่าเทคโนโลยีการเงินใหม่ หรือเงินดิจิทัลที่เกิดขึ้นนี้คือ อะไรกันแน่ 

วันนี้เป็นการเริ่มต้น สำหรับคนที่ไม่รู้ หรือยังไม่เข้าใจมาก่อน เพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้นว่า ดิจิทัล เคอเรนซี คืออะไรมีกี่ประเภท มีประโยชน์ และความเสี่ยงอย่างไรบ้าง โดยความรู้เบื้องต้นนี้ จัดทำขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และนำมาเล่าต่อให้อ่านกัน

ดิจิทัล เคอเรนซี  (Digital Currency) หรือเงินสกุลดิจิทัล ตั้งแต่เดิมนั้น ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการส่งผ่านมูลค่าระหว่างกัน โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง (เช่น สถาบันการเงิน ) ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยเปลี่ยนใช้ระบบบล็อกเชนมาทดแทนตัวกลางในการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างเพื่อการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ทำให้สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินได้หลากหลายประเภทกว่าการพัฒนาผ่านระบบตัวกลางทางการเงิน

โดย ดิจิทัล เคอเรนซี แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ Private Digital Currency หรือ เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน หรือที่เราคุ้นหูว่า “คริปโตเคอเรนซี” (Crypto currency) และอีกประเภทคือ Central Bank Digital Currency เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือที่เรียกกันว่า CBDC

เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งต่อจากนี้จะเรียกว่า คริปโตเคอเรนซี นี้ถูกออกแบบมาให้มีคุณสมบัติคล้ายกันเงินมากที่สุด เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการส่งมูลค่าระหว่างกัน ทั้งเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ โอนเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งใช้เพื่อการลงทุน 

โดย คริปโตเคอเรนซี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ BLank coin หรือเงินดิจิทัลที่ไม่มีอะไรหนุนหลัง ทำให้มูลค่าผันผวนได้ง่าย และรวดเร็วมากๆ ตามความเชื่อมั่นหรือปัจจัยที่เข้ามากระทบ ด้วยเหตุนี้แม้จะมีบางแห่งรับBLank coin เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ แต่ในภาพรวมยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และส่วนใหญ่ถือไว้เพื่อเก็งกำไรมากกว่า ซึ่ง BLank coin ที่เรารู้จักกันดี เช่น Bitcoin หรือ Ether เป็นต้น

และจากข้อจำกัดของ BLank coin จึงได้มีการคิดและพัฒนาทำเหรียญคริปโตเคอเรนซี ประเภทที่ 2 หรือเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ ที่เรียกว่า Stablecoin โดยจะมีคุณสมบัติคล้ายเงินเช่นกัน 

โดย Stablecoin แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.Stablecoin แบบที่มีเงินหนุนหลัง หรือ Fiat-backed Stablecoin โดยจะอ้างอิงกับมูลค่าสกุลเงินทั่วไป เช่น เงินบาท เงินหยวน เป็นต้น 2.Stablecoin แบบที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง หรือที่เรียกว่า Asset-backed Stablecoin โดยจะอ้างอิงกับสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ทองคำ หรือสินทรัพย์ที่มีค่าอื่นๆ และ 3. Stablecoin แบบไม่ได้อิงกับสินทรัพย์ใดๆ แต่ใช้การประมวลผลของระบบคอมพิวเตอร์ ในการกำหนดมูลค่าของเหรียญให้คงที่เสมอ หรือที่เรียกว่า Algorithmic Stablecoin

อย่างไรก็ดี Stablecoin ทั้งหมดที่กล่าวมา ยังมีประเด็นความเสี่ยงต่างๆ ที่ควรระวัง ทั้งความน่าเช่ือถือของผู้ออกความปลอดภัยของระบบ การโจรกรรมทางไซเบอร์  ซึ่งประชาชนอาจสูญมูลค่า หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินหรือ ทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย

ส่วนการยอมรับในทางกฎหมายของ คริปโตเคอเรนซี นั้น มีทั้งประเทศที่ห้ามเด็ดขาด และให้ใช้ได้แบบมีเงื่อนไข โดยประเทศที่ห้ามนำคริปโตเคอเรนซีมาซื้อขาย และขุดเหรียญคริปโตเคอเรนซีในประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน สำหรับประเทศอินโดนิเซีย ห้ามใช้คริปโตเคอเรนซี เป็นสื่อในการชำระค่าสินค้าและบริการ

ขณะที่ประเทศที่กำลังออกกฎเกณฑ์ในการใช้คริปโตเคอเรนซี ในส่วนของ Stablecoin แบบมีเงื่อนไขนั้น ประกอบด้วย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร รวมทั้งไทย 

ส่วนประเทศไทยนั้น มุมมองของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่รับรอง “คริปโตเคอเรนซี” ในฐานะสกุลเงิน หรือเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย แต่ให้นิยามว่าเป็น “สินทรัพย์ดิจิทัล” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นBLank coin โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงของการลงทุน BLank coin เป็นระยะๆ โดยระบุถึงความเสี่ยงในการถือครอง ความผันผวนที่สูงมากของราคา เพราะราคาอาจจะดีดีขึ้นไปสูงมาก และดิ่งลงอย่างรวดเร็วในช่วงสั้น ๆ รวมทั้ง โอกาสที่จะถูกโจรกรรมการโลกไซเบอร์ทำให้เสียทรัพย์สินไได้  

อย่างไรก็ตาม ธปท.มีแนวคิดที่กำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ในการหาหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลStablecoin ในลักษณะเดียวกับ e-Money เพื่อให้สามารถใช้เงินดิจิทัลในในส่วนนี้ พัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ต้นทุนถูกลงและประชาชนมีความปลอดภัยในการถือครองระดับหนึ่ง

นอกจากนั้น เพื่อให้เท่ากันกับโลกดิจิทัล และความปลอดภัยของประชาชนมากขึ้น ธปท.กำลังพัฒนา เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ CBDC ซึ่งจะเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีเข้าไปในเงินที่เราใช้กันในปัจจุบัน หรือพูดง่าย ๆ  เหมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดย ธปท.เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ “ดิจิทัล”

โดยที่ผ่านมา ได้ทดสอบการใช้เงินบาทดิจิทัล ในการชำระราคาในภาคอุคสาหกรรม การโอนเงินข้ามประเทศระหว่างธนาคารกลาง  ซึ่งจะลดต้นทุนการโอนเงินลงได้ค่อนข้างมาก และสามารถใช้ต่อยอดนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ทางการเงินเปิดโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ 

นอกจากนั้น ยังพัฒนา CBDC สำหรับภาคประชาชน โดยประชาชนสามารถนำ เงินบาทดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ เหมือนกับธนบัตรที่ ธปท.ออกใช้ ทำให้สะดวกปลอดภัย และผู้ใช้มีความมั่นใจ นำไปต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินอื่นๆ ได้ง่ายอีกด้วย  

ที่สำคัญยังช่วยให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สูงขึ้น แม้ว่าประชาชนคนนั้นจะไม่มีบัญชีกับธนาคารพาณิชย์(ธพ.) ก็มีบัญชีเงินบาทดิจิทัลได้  ทำให้เกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของไทยในยุคดิจิทัล

ซึ่งปัจจุบันธนาคารกลางทั่วโลกกำลังให้ความสนใจศึกษา CBDC และมีบางประเทศเช่น ประเทศจีน และสวีเดนสิงคโปร์ แคนาดา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ รวมทั้งไทย ที่อยู่ระหว่างการทดสอบการใช้ CBDC ในภาคประชาชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การออก CBDC ในประเทศไทยอาจจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วนัก เพราะต้องรอให้บริบทต่างๆ เหมาะสม

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่า จะทำให้คนที่ยังไม่รู้ เริ่มมีพื้นฐานของเงินสกุลดิจิทัลมากขึ้น และใครจะเลือกลงทุนหรือไม่ ในเหรียญรูปแบบใดนั้น ขึ้นกับความพอใจของตัวเอง แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น อยากคนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือลงทุนกับคริปโตเคอเรนซี โดยเฉพาะ BLank coin  ที่กำลังฮือฮากันในปัจจุบัน ศึกษาหาความรู้ให้ครอบคลุม รู้ทั้งประโยชน์และความเสี่ยง  และปัจจัยแวดล้อมที่จะมีผลต่อราคา

เพราะการลงทุนมีทั้งผลตอบแทน และความเสี่ยง ยิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงตามด้วยเท่านั้น !!