คลัง แนะหลังพักหนี้ผู้ประกอบการต้องปรับ 2 ต่อ “โครงสร้างหนี้-โครงสร้างธุรกิจ”

  • ชี้การพักหนี้ต้องมีขอบเขต
  • หวั่นผู้ประกอบการขาดวินัยทางการเงิน
  • ให้ธปท.พิจารณายืดเวลาพักหนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังเปิดเผยหลังมอบนโยบายผู้บริหาร ว่า ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินโดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค.นี้นั้น จะเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) จะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ตามหลักการควรจะมีการกำหนดระยะเวลาการพักชำระหนี้อย่างมีขอบเขต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดวินัยในการชำระหนี้ และเกิดหนี้เสียสะสม หลังจากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง ก็ควรจะต้องใช้มาตรการปรับ 2 ต่อ ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน และปรับโครงสร้างธุรกิจของภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

“ผู้ประกอบการพักชำระหนี้จะต้องมีระยะเวลาที่แน่นอน  หากยืดเวลาพักชำระหนี้ต่อ ผู้ประกอบการก็จะไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้  ทั้งนี้ศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. จึงมอบให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปหารือแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้และการปรับโครงสร้างธุรกิจในระยะยาว

ขณะที่ปัญหาการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) ของธปท.นั้น กระทรวงการคลังจะหารือร่วมกับสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อดูตัวเลขการขอสินเชื่อ เงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่างๆ ว่าจะเป็นอย่างไร และมีผลกับการขอสินเชื่อแต่ละภาคธุรกิจมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะรวมไปถึงธุรกิจสายการบินด้วย