คลัง เผยมาตรการทางการเงิน ช่วย “เอสเอ็มอี” ให้มีเงินหมุนเวียนทำธุรกิจ

  • โครงการค้ำประกันสินเชื่อ
  • ช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan
  • เพื่อช่วยฟื้นฟูก้าวผ่านวิฤกติโควิด

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่ลูกหนี้ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ผู้ประกอบการ SMEs) ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) จะเริ่มครบกำหนดชำระหนี้ในเดือนเมษายน 2565 แต่ผู้ประกอบการ SMEs บางรายอาจยังคงต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินธุรกิจและอาจยังไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan คืนทั้งจำนวน 

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SMEs ยังคงได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องและป้องกันมิให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้ ในวงกว้าง และลดภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะเป็นการประคับประคองกิจการและ  พยุงการจ้างงานในประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan Extra วงเงิน 90,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan และจะครบกำหนดเวลาการชำระหนี้คืน ให้ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาการค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 8 ปี และ บสย. คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs เป็นจำนวนร้อยละ 0.75 ต่อปี ใน 2 ปีแรกของการค้ำประกัน  

2. การปรับปรุงการดำเนินการโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวเป็นจำนวนร้อยละ 0.75 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ในช่วง 2 ปีแรกของโครงการค้ำประกัน เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้โครงการ ที่ต้องเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปี 2565 

นายพรชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan” จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้มีภาระหนี้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่ผู้ประกอบการจะผิดนัดชำระหนี้ อีกทั้งทำให้มีเงินหมุนเวียนเพียงพอต่อการประกอบธุรกิจ และหากผู้ประกอบการ SMEs ต้องการทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อฟื้นฟูภายใต้พระราชกำหนดการให้  ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ได้อีกด้วย