“คลัง” ออกแพ็คเกจใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ

  • “อุตตม” อุ้มเกษตรกรดันจีดีพีขยายโต3%
  • คลังยันแบงก์รัฐพร้อมช่วยเหลือประชาชน
  • ”สันติ” ผงาดคุ้มกรมศุลฯ สมใจปรารถนา

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า วานนี้ (5 ส.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญนายอุตตม สาวนายก รมว.คลัง พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังเช่น ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดี 3 กรมภาษีคือ กรม สรรพากร กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อหารือถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่จะออกมาในเร็วๆ นี้

นายอุตตม กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่า จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือนส.ค.นี้ โดยจะเสนอเป็นแพ็คเกจทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ธนาคารเฉพาะกิจและกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น ดังนั้น ก็ควรที่นำมาตรการไปหารือใน ครม.เศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ให้ขยายตัวต่ำกว่า 3% เพราะเป็นที่ทราบ ดีว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวเพียง 2.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และประเมินว่า ไตรมาสที่ 2 น่าจะขยายตัวไม่ดีนักเนื่อง จากภาวะโลกเช่นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนรวม ถึงปัญหาการเมืองภายในประเทศ

“หากรัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ โอกาสที่จะเห็นจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ) ขยายตัวต่ำกว่า 3% ได้ แต่หากเรามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาและมาตรการดังกล่าว ได้ผลดี ผมเชื่อว่า จีดีพีไทยปีนี้ เติบโตมาก กว่า 3% อย่างแน่นอน”

นายอุตตม กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้ จะให้ความช่วยเหลือค่อนข้างกว้าง และครอบ คลุมคนทุกกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย การให้ความเชื่อเหลือเกษตรกร แม้ว่า ฝนจะเริ่มตกมากขึ้นหลังจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง แต่มีเกษตรกรได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง ซึ่งมาตรการนี้ ธ.ก.ส.และกระทรวงเกษรกรฯ จะให้ความช่วยเหลือ ขณะที่มาตรการเกี่ยวกับประชาชนในระดับฐานราก มี ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน เป็นแกนหลัก ส่วนประชาชนทั่วไป คนทำงานและผู้ประกอบการใหม่ หรือ Startup ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย

ส่วนมาตรการเพิ่มเติมที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขอยืนยันว่ามีอย่างแน่นอน เพราะบัตรสวัสดิการฯ ถือเป็นเครื่องมือของรัฐที่มีอยู่แล้ว แต่ต้องกำหนดตัวของมาตรการให้ชัดเจนก่อนว่า ใครจะได้รับประโยชน์ และจำนวนเงินหรืองบประมาณต้องใช้จำนวนเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณนั้น ต้องอยู่ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีการงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้งบประมาณปีเก่าไปพลางก่อนได้

ส่วนเรื่องการแบ่งภายในกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง รับผิดชอบ ธนาคารกรุงไทย กรมบัญชีกลาง กรมศุลกากรและกรมธนารักษ์ ส่วนผมรับผิดชอบกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานบริหารหนีสาธารณะ (สบน.) และธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น