“คลัง” ลั่นฐานะการเงินยังแกร่ง แจงเหตุกู้เงินชดเชยขาดดุลงบฯ 2 หมื่นล้าน เป็นแผนบริหารหนี้ปกติ

  • เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสรายได้-รายจ่าย ในช่วงระยะเวลาต่างๆ
  • ย้ำการกู้เงินดังกล่าวตามแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบ 63
  • โชว์เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ม.ค.63 มีจำนวน 316,370 ล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยชี้แจงถึงประเด็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณผ่านการทำสัญญากู้ยืมเงิน (Term loan) จำนวน 20,000 ล้านบาทว่าเป็นการดำเนินการของกระทรวงการคลังตามปกติทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสรายได้และกระแสรายจ่ายในช่วงระยะเวลาต่างๆ ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในรูปแบบต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ สัญญากู้ยืมเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วเงินคลัง เป็นต้น โดยมีการวางแผนการกู้เงินและบริหารเงินคงคลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและรอบคอบรัดกุม

สำหรับการกู้เงินผ่านการทำสัญญากู้ยืมเงินในครั้งนี้ จำนวน 20,000 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่เหลื่อมปีมาของปีงบประมาณ 2562 จำนวน 101,022 ล้านบาท จากกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของปีงบประมาณ 2562 รวม 450,000 ล้านบาท โดย  สิ้นเดือนมกราคม 2563 กระทรวงการคลังได้มีการกู้เงินเหลื่อมปีไปแล้วทั้งสิ้น 56,202 ล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 18,600 ล้านบาท พันธบัตรออมทรัพย์จำนวน 17,602 ล้านบาท และสัญญากู้ยืมเงินที่กล่าวข้างต้นจำนวน 20,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 โดยกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ได้บรรจุไว้ เป็นวงเงินกู้ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ดังนั้นการกู้เงินในรูปแบบต่างๆ ของกระทรวงการคลังถือเป็นการดำเนินการปกติทั่วไป ไม่ได้แสดงถึงฐานะการคลังที่ย่ำแย่แต่อย่างใด

ฐานะการคลังของรัฐบาลยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการรองรับมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป สะท้อนได้จากเงินคงคลัง  สิ้นเดือนมกราคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 316,370 ล้านบาท โดยที่ระดับเงินคงคลังในปัจจุบันเป็นระดับที่ได้มีการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และได้คำนึงถึงกระแสรายรับ กระแสรายจ่ายของรัฐบาล และต้นทุนการบริหารเงินแล้ว ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอในการดำเนินนโยบายของภาครัฐต่อไป และเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายทุกประการ