คลังสรุปผลงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ยอดขอรับบริการ 4.47 แสนรายการ “อาคม” ลั่นช่วยต่อเนื่องยาวถึงสิ้นปี 66

  • เผยจัดงานมหกรรมฯ 5 ครั้ง มีประชาชนขอรับบริการกว่า 34,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงิน 24,000 ล้านบาท
  • ด้านลูกหนี้ติดต่อผ่านออนไลน์ 413,000 รายการ สามารถช่วยแก้หนี้ไปได้ 50,000 รายการ
  • พบลูกหนี้ลงทะเบียนทั้งหมด และประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 75%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (7 ก.พ.66) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบผลการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ที่จัดโดยกระทรวงการคลังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก และถือว่าประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ

“แม้ว่าการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน จะจบลงแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยลูกหนี้ที่ประสบปัญหาหนี้สินสามารถติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ที่สาขาของสถาบันการเงินทุกแห่งทั่วประเทศตลอดทั้งปี 66 หรือเข้าร่วมโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการทางด่วนแก้หนี้ โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน หรือ โครงการคลินิกแก้หนี้ ได้ตลอดเวลา”

ทั้งนี้ ทุกธนาคารต้องเปิดสาขารับเรื่องช่วยเหลือประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้ ในส่วนกลุ่มลูกหนี้บางรายที่มีข้อมูลอยู่แล้ว ก็ควรจะจัดทีมเจ้าหน้าที่ธนาคารเดินทางไปตรวจสอบเคาะถึงประตูหน้าบ้านเลย เนื่องด้วยธนาคารรู้จักลูกหนี้ตนเองเป็นอย่างดีอยู่แล้ว อีกทั้งในปี้นี้ ก็เป็นอีกปีที่นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาช่วยดูแลอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ผลของการจัดงานมหกรรมฯ ประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยนายชื่นชอบ คงอุดม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงรายละเอียดดังนี้

1. ผลการจัดงานมหกรรมฯ รูปแบบสัญจร จำนวน 5 ครั้ง ในกรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และสงขลา มีประชาชนและผู้ประกอบการขอรับบริการภายในงานเป็นจำนวนมากกว่า 34,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ จำนวนมากที่สุด13,000 รายการ รองลงมา คือ การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมมากกว่า 10,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 10,000 ล้านบาท การขอสินเชื่อเพิ่มเติมมากกว่า 4,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 8,000 ล้านบาท และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิตโดย บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การแนะแนวอาชีพโดยสำนักงานจัดหางาน การขอคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาชุมชนการจำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น จำนวนประมาณ 7,000 รายการ

2. ผลการจัดงานมหกรรมฯ รูปแบบออนไลน์ มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ทั้งสิ้นมากกว่า 188,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 413,000 รายการ ประกอบด้วย ลูกหนี้ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 35% ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31% และภาคอื่นๆ 34% ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด และประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 75% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 6% สินเชื่อรายย่อยอื่นร้อยละ 5 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 4% และสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ร้อยละ 10% 

ทั้งนี้ ในส่วนของลูกหนี้ที่ติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ 413,000 รายการ ณ ปัจจุบันสามารถช่วยแก้หนี้ไปได้แล้ว50,000  รายการ ที่เหลือ 100,000 รายการ ลงทะเบียนไว้เรียบร้อย แต่ทางธนาครติดต่อลูกหนี้ไม่ได้ ส่วนอีก100,000 รายการ ไม่เข้าตามเงื่อนไขที่กำหนด และอีกส่วน 150,000 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินงานติดตามช่วยแก้ไขปัญาหนี้ โดยลูกหนี้ที่สนใจที่จะขอทบทวน หรือติดปัญหาตรงจุดไหน สามารถติดต่อมาที่ธนาคาร หรือ ธปท. ได้ถึงสิ้นเดือน ก.พ.66 นี้

ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วันนี้แม้งานมหกรรมฯ จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ประชาชนยังคงต้องดำเนินการต่อ โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีแนวทางการดำเนินการ

ในระยะต่อไป ดังนี้ 1. มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งสนับสนุนให้สถาบันการเงินแก้ไขปัญหาหนี้สินและปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มากกว่าการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียวเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริงและคำนึงถึงภาระของลูกหนี้ตลอดสัญญา ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินมาตรการถึงสิ้นปี 66 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้กำหนดให้การดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง

2. ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดช่องทางเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่องได้แก่ (1) ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางเสริมออนไลน์สำหรับประชาชนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้แต่ติดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้หรือติดต่อแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ (2) หมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และ (3) คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน 

3. ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเผยแพร่เอกสารทิศทาง (Directional Paper) ในเดือน ก.พ.66 เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ  กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารของรัฐ ได้พยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้เต็มกำลัง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารให้นานที่สุด ล่าสุดเพิ่งมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกไปเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับที่น้อยกว่าตลาด โดยจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนี้ ผู้กู้ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีปัญหาเงินงวดเพิ่ม แต่อาจมีระยะเวลาการผ่อนชำระที่นานขึ้น ในส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ทางกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ช่วยดูแลอย่างเต็มที่ ส่วนกลุ่มลูกหนี้ใหม่ ก็จะกระทบทำให้วงเงินการขอกู้ลดลงไปบ้าง