คลังชงคณะกรรมการกลั่นกรองจ่ายเงินกลุ่มตกหล่นล็อตสุดท้าย 9 ล้านคน

  • ชี้ไม่มีช่วยเหลือกลุ่มใดเพิ่มเติมแล้ว
  • เริ่มจ่ายเงินเดือนมิ.ย.นี้ หากเข้าครม.ทัน

นายประสงค์  พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังประธานการประชุมคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไวรัสโควิด-19 (ปลัด 10 กระทรวง) ว่า ในสัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด( พ.ร.ก.)กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อพิจารณาจ่ายเงินเยียวยากลุ่มที่ตกหล่น จากมาตรการรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประมาณ 9 ล้านคน ซึ่งจะเป็นล็อตสุดท้ายที่รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยา ไม่มีการช่วยเหลือเพิ่มเติมแล้ว ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับในกลุ่มที่จะได้รับการเยียวยาเพิ่มเติม หลังจากคณะกรรมการเยียวยาตรวจสอบข้อมูลความซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นๆแล้ว  ประกอบด้วย  4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน  1.2 ล้านคน จากเดิม 2.4 ล้านคน  2.กลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จในมาตรการเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน จำนวน 302,160 คน จากเดิมมีผู้ลงทะเบียนไม่ผ่าน  1.7 ล้านคน  คาดว่ากลุ่มนี้จะได้รับเงิน  5,000 บาท จำนวน 3 เดือน

3.กลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กแรกถึง 6 ปี ผู้พิการ และผู้สูงวัย ที่กระทรวงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลจำนวน 6.9 ล้านคน  จากกรอบเดิมที่ ครม. อนุมัติไว้ 13 ล้านคน จะได้รับเงิน 1,000 บาท จำนวน 3 เดือน และ4.กลุ่มที่ตกหล่นจากประกันสังคม 66,000 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ตกงานแต่ยังส่งเงินประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน  คาดว่าจะได้รับเงิน 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน

 “ตัวเลขเงินเยียวยาในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  และกลุ่มอื่นๆ จะต้องให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เคาะอีกที ว่าจะสรุปตามที่คณะกรรมการเยียวยาเสนอหรือไม่  แต่จำนวนเดือนที่จะช่วยเหลือยังกำหนดไว้ที่ 3 เดือนเหมือนเดิม”

อย่างไรก็ตามใน 4 กลุ่มที่ตกหล่นนี้ คาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินเยียวยาได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้ จำนวน 2 เดือนพร้อมกัน และเดือนก.ค.อีก 1 เดือน ส่วนถ้าหากครม.ไม่สามารถอนุมัติได้ทันภายในเดือนนี้  จะต้องเลื่อนการจ่ายเงินเยียวยาไปเดือนก.ค. ซึ่งจะจ่ายเงินก้อนเดียวเลยจำนวน 3 เดือน

“ส่วนกลุ่มผู้ที่ร้องทุกข์จากมาตรการเยียวยาเราไม่ทิ้ง ที่เข้ามาร้องเรียนหน้าที่กระทรวงการคลังและกรมประชาสัมพันธ์ จำนวน 806,000 คน ในจำนวนนี้คัดกรองข้อมูลแล้ว 100,000 ราย พบว่า เป็นผู้ที่ยังไม่ได้มาลงทะเบียนหรือตกหล่น  6,472 คน  ส่วนที่เหลือได้รับสิทธิ์เยียวยาต่างๆ ไปแล้ว”