คลังคาดจีดีพีปีนี้ขยายตัว5% เล็งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเน้น 3 อุตสาหกรรมหลัก

  • ดิจิทัล ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และ สุขภาพ
  • ยันฐานะการคลังแข็งแกร่งรับมือการฟื้นตัว
  • ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาในงาน THAILAND ECNOMIC MONITOR JANUARY 2021 จัดโดยธนาคารโลกว่า การระบาดระลอกของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา รวมถึงการะบาดระลอกใหม่นั้นได้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของผู้ประกอบการและภาพรวมเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลได้ออกหลายมาตรการมาดูแลทั้งในเรื่องระบบสาธารณสุขและการดูแลเศรษฐกิจ ขณะที่ เรายังหวังพึ่งพิงความสำเร็จของวัคซีนที่จะเข้ามาช่วย ซึ่งกำลังจะเปิดตัวในไทย ทั้งนี้ ผลกระทบของโควิด-19 นั้น ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาจะขยายตัวติดลบ 6% ซึ่งก็ถือว่า ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนปีนี้นั้น คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 4-5%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มขยายตัวดีขึ้นในปีนี้ แต่รัฐบาลก็ต้องเตรียมการที่จะดูแลเศรษฐกิจระยะต่อไป โดยจะต้องเข้ามาปรับโครงสร้างเพื่อรองรับผ่านการส่งเสริม 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมสีเขียวหรือส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งอุตสาหกรรมด้านสุขภาพนี้ เราจะจัดสรรงบประมาณให้มากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อรองรับกรณีการเกิดโรคระบาดต่างๆ

ขณะที่ในด้านการเงินคลังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ภาคการคลังมีความแข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจ ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงการคลังต้องดำเนินการ คือ การปรับโครงสร้างภาษี เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ที่มั่นคง โดยขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เสถียรภาพการเงินของรัฐบาลยังมีความแข็งแกร่งทั้งเสถียรภาพภายในและภายนอก

“เราต้องเตรียมการเกี่ยวกับนโยบายรายได้ประเทศของเรา ซึ่งต้องมั่นคงทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตน เพราะเราจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤต ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษีก็เป็นกลไกสำคัญที่ต้องตระเตรียม เพราะไม่ว่าในอนาคตจะเกิดวิกฤตอะไรก็ตาม นโยบายการคลังต้องมั่นคงที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจไปได้”

อย่างไรก็ตามในด้านการดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้น ที่ผ่านมา เราก็ใช้นโยบายที่จะรักษาระดับการจ้างงานและรักษาระดับการบริโภคในประเทศ เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปจากการท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยได้ออกมาตรการดูแลผ่านการใช้เม็ดเงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้ช่วยเหลือประชาชนที่มีความเปราะบางและลำบากไป

“ที่ผ่านมา เราได้ออกหลายมาตรการที่ดูแลประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะเราต้องการให้ภาคธุรกิจยังเดินไปได้ โดยออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่านมาตรการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน การเยียวยาประชาชน และล่าสุดได้ออกมาตรการเราชนะ ซึ่งก็เป็นการเยียวยาประชาชนให้มีรายได้ไปใช้จ่ายจำนวน 31 ล้านคน และรวมถึง การดูแลเรื่องค่าน้ำค่าไฟต่างๆ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะมีการปรับปรุงซอฟท์โลน เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น ทั้งนี้ เรายืนยันว่า เรามีความสามารถทางการคลังที่จะรับมือกับปัญหาโควิดระลอกใหม่”

ทั้งนี้ การออกมาตรการต่างๆของรัฐบาลนั้น จะสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้สมาร์ทโฟนเพื่อร่วมมาตรการ ซึ่งที่ผ่านมา เรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จ โดยดูได้จากการเข้ามาร่วมใช้มาตรการของผู้สูงอายุ ซึ่งเราพบว่า มีผู้สูงอายุเข้ามาร่วมมาตรการถึง 10% ดังนั้น เรื่องอายุกับการใช้เทคโนโลยีจึงไม่ใช่อุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเดินหน้าในเรื่องดังกล่าวต่อไป