คลังกุมขมับ! รัฐวิสาหกิจส่งรายได้ต่ำเป้า 3.1 หมื่นล้านบาท

  • หวั่นการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 64 พลาดเป้า
  • เหตุโควิดระบาดส่งผลกระทบต่อรายได้

วันที่ 14 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รายงานว่า การนำเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ2564 (ต.ค.2563 – เม.ย.2564)  ต่ำกว่าประมาณไว้ถึง 31,926 ล้านบาท โดยเป้าหมายตามประมาณการไว้ที่ 108,920 ล้านบาท  แต่นำส่งจริง 76,994 ล้านบาท

ส่วนสาเหตุที่การนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าเป้าหมายนั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด19  มีผลกระทบต่อรายได้และกำไรของรัฐวิสาหกิจลดลง   อาทิ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน. )  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์  บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)   มีเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินรวม 15,605 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. มีกำไรลดลง นำส่งเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่ำกว่าประมาณการ 7,343 ล้านบาท 

สำหรับรัฐวิสาหกิจ 5 อันดับแรกที่นำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินมากสุด ได้แก่ ปตท. นำส่งจริง 11,971 ล้านบาท  ต่ำกว่าประมาณ 224 ล้านบาท โดยประมาณการอยู่ที่ 12,195 ล้านบาท  ซึ่งการนำส่งนั้นเป็นการนำส่งตามสัดส่วนการถือหุ้นที่กระทรวงการคลังถือหุ้น14.59 ล้านหุ้น หุ้นละ 0.82 บาท   กฟผ.นำส่งจริง 9,260 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,260 ล้านบาท โดยประมาณการจริงอยู่ที่ 10,521 ล้านบาท สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำส่งจริง 3,312 ล้านบาท สูงกว่าประมาณ 368 ล้านบาท โดยประมาณอยู่ที่ 3,312 ล้านบาท  การยาสูบแห่งประเทศไทย นำส่ง 2,190 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากกำไรปี2563 และส่วนที่ค้างจากการนำส่งเมื่อปี 2560-2561  และการประปานครหลวง นำส่งจริง 701 ล้านบาท 

ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมภาษี อาทิ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายทั้งสิ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้การจัดเก็บรายได้รัฐพลาดเป้า ทำให้กระทรวงการคลัง ได้เร่งรัดให้ทุกส่วนงาน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้ใกล้เป้าหมายการประมาณการณ์ให้มากที่สุด โดยปีงบประมาณ 2564 รัฐบาล ได้กำหนดเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ อยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท