ครม.ไฟเขียวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

  • รัฐทุ่มงบ 3.16 แสนล้านบาทอุ้มรากหญ้า
  • คลังมั่นใจดันเศรษฐกิจขยายตัว 0.5%
  • แจงแจกเงิน1พันบาทห้ามถอนเงินสด

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่กระ ทรวงการคลังเสนอ โดยมาตรการทั้งหมดจะใช้จำนวนเงิน 316,813 ล้านบาท ซึ่งส่วนเป็นเงินนอกงบประมาณจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาลเช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และ ธนาคารกรุงไทยรวมแล้ว 270,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นเงินที่มีอยู่ในกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจรากฐาน ซึ่งใช้ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 20,000 ล้านบาท และยังมีเงินสนับสนุนจากงบประมาณ 40,000 ล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ค่าดว่า จะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้ เติบโตได้มากขึ้น 0.5% จากเดิมที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3% จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% โดยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก

มาตรการที่ 1
การบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้านประกอบด้วยมี 4 โครงการ ดังนี้ 1.มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ทุกคน 14.5 ล้านคน จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน
2.มาตรการมอบเงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ได้รับเงินช่วยเหลือ 500 บาทต่อคนต่อเดือน
3.มาตรการช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ที่มีอายุ 0 ถึง6 ปี ให้ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกจำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน
โดยทั้ง 3 มาตรการจะบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ระหว่างเดือนส.ค.-ก.ย.2562
4.พักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่คงค้างกับสถาบันการเงิน 50,732 แห่ง โดยเป็นกอง ทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 27,249 แห่ง และอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารออมสิน 23,483 แห่ง โดยพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น

มาตรการที่ 2
เพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี2562 ประกอบด้วย 1.ลดอัราดอกเบี้ยเงิน กู้ โดย ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) คิดอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี ต้นเงิน กู้ที่ไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลา 1 ปี เริ่มวันที่ 1 ส.ค.2562 ถึงวันที่ 31 ก.ค.2563 2.โครงการขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ระยะเวลา 2 ปี และ3.สนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

มาตรการ 3
เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ประกอบด้วย
1. มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้”เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) โดยผู้สนใจเข้าร่วมมาตรการจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปในวันลงทะเบียน โดยจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการผ่านเว็บไซต์ ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
– รัฐบาลสนับสนุนเงิน 1,000 บาทต่อคน เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตร การ โดยไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้
– หากผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือค่าสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ รัฐบาลจะชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับ 15% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)
ทั้งนี้ ในการซื้อสิน ค้าและบริการดังกล่าวจะต้องเป็นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่รับชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่ก.ย.-พ.ย.นี้

“หลังจากที่ได้รับเอสเอ็มเอส เพื่อยืนยันว่า ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ต้องใช้สิทธิ์ ภายใน 14 วัน หากเลยระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว ไม่ใช้ ก็จะถูกตัดสิทธิ์ทันที เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนรายใหม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด สำหรับเงินจำนวน 1,000 บาท ที่ได้รับนั้น ไม่สามารถเบิกเงินสด หรือนำไปใช้เติมน้ำมันได้ ส่วนเงินที่กระทรวงการคลัง จ่ายคืน (Cash Back) เริ่มจ่ายให้หลังสิ้นสุดโครงการไปแล้ว 15-45 วัน ซึ่งเงินที่จ่ายคืนประชาชนสามารถถอนเงินสดหรือใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังได้”

2.โครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อย ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอมเอ็มอีแบงก์) วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และ3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS8) วง เงินค้ำประกันสินเชื่อ 150,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ค่าธรรมเนียมค้ำประกันเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% 4.มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่าย เพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 1.5 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับการลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2562 ถึงวันที่ 31 พ.ค.2563

มาตรการที่ 4
แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี รมว.คลัง เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบลงทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น.