ครม.ส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่สร้างบริการภาครัฐวันสต็อปเซอร์วิส

  • วางกรอบทำงาน 3 ด้านให้ทุกกระทรวงเชื่อมโยง
  • “อนุพงษ์”ชี้ถึงเวลาต้องเดินหน้า
  • ลิงค์ข้อมูลทุกหน่วยงานบนคราวด์

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (วันสต็อปเซอร์วิส) และกรอบแนวทางการพัฒนาการให้บริการเบ็ดเสร็จของภาครัฐ: สถาปัตยกรรมระบบและการเชื่อมโยงข้อมูล (Government One Stop Service Development Framework: System Architecture and Data Linkage) ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐทั้งการให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป และแก่เอกชนที่เป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจ โดยมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ลดขั้นตอนและเอกสารที่ต้องใช้ให้ลดลง

ทั้งนี้ มีกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นหน่วยงานหลักประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้สามารถให้บริการกับประชาชนได้แล้วประมาณ 200 กว่ากระบวนงาน จากทั้งหมด 5,257 กระบวนงาน โดยในกรณีการใช้บริการหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทยขณะนี้เกือบทั้งหมดประชาชนใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวโดยไม่ต้องใช้เอกสารอื่น ยกเว้นเพียงการใช้บริการบางหน่วยงาน เช่น กรมที่ดินที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะ

“กรอบการทำงานที่รัฐบาลนี้ได้เริ่มไว้จะเป็นกรอบการทำงานเพื่อให้แต่ละกระทรวงที่เกี่ยวของไปสานต่อ ซึ่งกรอบการทำงานนี้จะทำให้ทุกกระทรวงรู้ว่าจะต้องดำเนินการอะไรต่อเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการทั้งประชาชนและเอกชน ซึ่งแต่ละกระทรวงต้องกลับไปดูว่าต้องใช้งบประมาณเท่าใด ซึ่งเรื่องนี้ใช้เงินเยอะจริงๆ เช่น ที่กระทรวงมหาดไทยคีย์ข้อมูลโฉนดทั้งประเทศลงบนระบบออนไลน์ ทางเจ้าหน้าที่กรมที่ดินทำเองไม่ได้ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ก็ต้องใช้งบประมารเป็นพันล้านบาท และที่ประชุมหารือกันว่าแต่ละกระทรวงไม่ควรมีเซิฟเวอร์ของตัวเอง แต่ควรจะจัดระบบการเก็บข้อมูลบนคราวด์ ขนาดใหญ่รวมอยู่ด้วยกัน ข้อมูลของทุกกระทรวงจะมาอยู่บนนี้ จึงต้องไปดูระบบคราวด์ว่าจะใช้แบบไหน และต้องใช้งบประมาณเท่าใดด้วย การทำเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถึงเวลาต้องทำ ขอให้เดินหน้าไป เมื่อพบอุปสรรคตรงไหนก็แก้ไขตรงนั้น หรือพบว่ามีกฎหมายฉบับใดเป็นอุปสรรค ก็ต้องเดินหน้าแก้ไขกฏหมายนั้น”

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลฯ กล่าวว่า สำหรับกรอบการพัฒนาการให้บริการเบ็ดเสร็จของภาครัฐ: สถาปัตยกรรมระบบและการเชื่อมโยงข้อมูล ที่กระทรวงดิจิทัลหารือแนวทางการพัฒนาการให้บริการเบ็ดเสร็จของภาครัฐร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการใน 3 ส่วน 1.การจัดลำดับความสำคัญของบริการเพื่อพัฒนาระบบนำร่องบริการแบบเบ็ดเสร็จ ได้แบ่งระดับความพร้อมของการพัฒนาจัดระดับความพร้อมของบริการ เพื่อคัดเลือกกลุ่มบริการนำร่องที่เหมาะสม

2.กรอบแนวทางการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับบริการแบบเบ็ดเสร็จ การเชื่อมโยงเอกสารข้อมูล และกระบวนงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ กรอบแนวคิดการบูรณาการข้อมูลภาครัฐเพื่อการให้บริการ 6 มิติ ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรภาครัฐ การส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐสามารถกำกับดูแลข้อมูลของตน ให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ และทันสมัย การพัฒนาระบบรายการข้อมูลและฟอร์มบริการภาครัฐ การพัฒนาระบบสารสนเทศร่วมเพื่อบริหารจัดการการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนเอกสาร/ข้อมูล สำหรับการให้บริการประชาชนแบบวันสต๊อปเซอร์วิส การศึกษากระบวนการกฎหมาย/กฎกระทรวง/พระราชบัญญัติ และ การกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและเป็นแบบเปิด

3.การพัฒนาสถาปัตยกรรมระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ โดยออกแบบระบบที่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัย การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และต้องเป็นสถาปัตยกรรมแบบเปิด มีความยืดหยุ่นสูง บูรณาการระบบงาน กระบวนงาน และการต่อเชื่อมเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้แบบ 1 ต่อ 1 โดยแบ่งประเภทบริการเป็น 3 ระดับ คือ การพัฒนาพอร์ทัลบริการ การพัฒนาศูนย์เชื่อมโยง (Linkage Center)และ การพัฒนาหน่วยงานบริการภาครัฐ (Government Service Agency)