ครม. รับทราบผลศึกษาจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” หวังแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ พร้อมสร้างอาชีพ

  • ดึงเอกชนร่วมลงทุนในพื้นที่เรือนจำต้นแบบ สร้างความมั่นคงด้านแรงงาน ให้แก่ผู้ประกอบการ
  • กระทรวงยุติธรรม ตั้งเป้าส่งผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษเข้าทำงานให้ได้ 16,000 คน/ปี
  • ส่งผลให้ภาครัฐประหยัดงบดูแลผู้ต้องขังประมาณ 336 ล้านบาท/ปี

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (19 ต.ค.64) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้ทำการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมฯ โดยผลการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำเพื่อฝึกทักษะอาชีพ พัฒนายกระดับฝีมือแรงงาน และสร้างผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการรายใหม่และเป็นการสร้างอาชีพในอนาคต เพื่อลดจำนวนอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้พ้นโทษ และผู้อยู่ระหว่างพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษ 

ทั้งนี้แนวทาง การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภายนอกเรือนจำโดยร่วมกับ กนอ. (ที่ราชพัสดุของหน่วยงานอื่น) 2) การจัดตั้งนิคมฯ ภายในพื้นที่เรือนจำ (ที่ราชพัสดุของกรมราชทัณฑ์) และ 3) การใช้พื้นที่เอกชนเป็นนิคมฯ หากยังมีพื้นที่ว่างที่ยังเหลืออยู่  โดยมีพื้นที่นำร่องต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร (เรือนจำชั่วคราวบางหญ้าแพรก) เรือนจำกลางชลบุรี (เรือนจำชั่วคราวบ้านบึง) เรือนจำกลางสมุทรปราการ (เรือนจำชั่วคราวคลองด่าน) และเรือนจำกลางระยอง (เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว) โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนคัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจที่เน้นนวัตกรรม แรงงานใช้ฝีมือและรูปแบบธุรกิจที่ทันสมัย พร้อมให้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจของภาคธุรกิจในการร่วมลงทุนแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน 

อย่างไรก็ตาม  ที่ประชุม ครม. มอบหมายให้ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมฯ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ต้นทุน ผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม 

“แนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้พ้นโทษ สร้างอาชีพในอนาคต โดย ยธ. ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาและส่งผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษเข้าไปทำงานในสถานประกอบการให้ได้จำนวน 16,000 คน/ปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ภาครัฐจะต้องใช้ในการดูแลผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ เฉลี่ย21,000 บาท/คน/ปี จะทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณที่ใช้ดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำประมาณ 336 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ยังสร้างความมั่นคงทางแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการด้วย” นายธนกร กล่าว