ครม.ยุติปัญหาอ้อยไฟไหม้ภายในปี 2565

  • ให้โรงงานน้ำตาลหักค่าอ้อยไฟไหม้
  • ลดสัดส่วนอ้อยถูกเผาเข้าหีบ
  • ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อ 6,000 ล้านบาทช่วย

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยตั้งเป้าหมายให้การเผาอ้อยต้องหมดไปจากประเทศไทยภายใน 3 ปี หรือในปี 2565 ด้วยการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย เพื่อลดปริมาณเผาอ้อยไฟลงเป็นรายปี โดยในฤดูการผลิตปี 2562/63 จะหักราคาอ้อยไฟไหม้จากชาวไร่อ้อยตันละ 5% และให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินวันละ 30% ต่อจากนั้นในฤดูการผลิต ปี 2563 /64 หักราคาอ้อยไฟไหม้ตันละ 10% และให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินวันละ 20% ส่วนในฤดูการผลิตปี 2564/65 หักราคาอ้อยไฟไหม้ตันละ 15% และให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินวันละ 0-5%

พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนสินเชื่อเพื่อประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562 – 2564 โดยให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จัดสินเชื่อกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2564 รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท โดยเงินกู้แต่ละรายต้องไม่เกิน 29 ล้านบาท แยกเป็นเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย และปรับพื้นที่ปลูกอ้อย วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 500,000 บาท นอกจากนี้ มีเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร แยกเป็น รถตัดอ้อยใหม่ขนาดใหญ่ มีวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 15 ล้านบาท และรถตัดอ้อยใหม่ขนาดกลาง วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท ส่วนรถตัดอ้อยเก่าขนาดใหญ่ มีวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท และรถตัดอ้อยใหม่ขนาดกลาง วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 8 ล้านบาท

“กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน ที่คิดดอกเบี้ย 2% ต่อปี ส่วนกรณีการกู้เงินเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อย ประเภทรถแทรกเตอร์หรือรถบรรทุกคิดดอกเบี้ยในอัตรา 4% ต่อปี โดยรัฐบาลไม่ต้องชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้ แต่ธ.ก.ส. รับภาระชดเชย 1% ต่อปี โดยรัฐบาลกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. 599.43 ล้านบาท”