ครม.ฟันธงหาเงินสู้โควิด-19 ร่วม 2 ล้านล้านบาท ย้ำกู้จริง 1 ล้านล้านบาท ขยายการแจกเงิน 5,000 บาทเป็น 6 เดือน

  • เห็นชอบออกพ.ร.ก. 3 ฉบับ และพ.ร.บ. 1 ฉบับ
  • ธนาคารออมสินจัดซอฟโลน์ 80,000 ล้านบาทให้นอนแบงก์
  • พักเงินต้นดอกเบี้ยธุรกิจที่กู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท 6 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 3 จะใช้วงเงินทั้งสิ้นร่วม 2 ล้านล้านบาท มาจาก 1.กระทรวงการคลังออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท 2.พ.ร.ก.ให้อำนาจธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อดูแลภาคธุรกิจ 500,000 ล้านบาท 3.ธปท.ออก พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 400,000 ล้านบาท 5.สำนักงบประมาณเสนอ ร่าง พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะต้องนำเสนอที่ประชุมสภาเดือนพ.ค.นี้ วงเงินที่ 80,000-100,000 ล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงว่า ครม. เห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 จะมีการออกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …. วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

โดยชุดที่ 1 จะใช้วงเงิน 600,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาให้กับประชาชน เกษตรกร และดูแลด้านสาธารณสุข ซึ่งในจำนวนนี้ จะขยายมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย. จำนวน 15,000 บาท ออกไปอีก 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.) รวมทั้งหมด 6 เดือน เป็น 30,000 บาท เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด กระทบประชาชนและผู้ประกอบการอาชีพอิสระจำนวนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่า เรื่องนี้จบลงเมื่อไร จึงต้องช่วยคนกลุ่มนี้ ประชาชนที่เข้าข่ายได้รับความช่วย เหลือไม่น่าเกิน 9 ล้านคน ซึ่งจะใช้เงิน 270,000 ล้านบาท

สำหรับชุดที่ 2 จะเป็นมาตรการที่ดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 400,000 ล้านบาท เป็นการดูแลเศรษฐกิจรวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เมื่อใดที่โควิดหมดไปก็ต้องมีชุดมาตรการแผนงานที่ช่วยเศรษฐกิจฐานราก มีความพร้อมเดินหน้าทันที ประกอบด้วย 1.การเพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิตและการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและในระดับพื้นที่เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลอดจนการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ในระดับที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว หรือภาคบริการอื่น 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิต ภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งการสร้างช่องทางทางการตลาด และยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และ 3.การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนรวมทั้งการส่งเสริม และกระตุ้นการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชนที่จะทำให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติ

รมว.คลัง กล่าวต่อไปว่า มาตรการที่ครม.อนุมัติต่อมาเป็นdkiรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออก พ.ร.ก.วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ หรือซอฟท์โลน ให้แก่ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์กรการเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตรา 0.01% ต่อปี วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารไปปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ไม่เกิน 20% ของสินเชื่อคงค้าง ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี นาน 2 ปี ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และที่สำคัญผู้ประกอบการที่กู้เงินก้อนใหม่ ไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ได้เพิ่มเติมในระยะ 6 เดือนแรก

“ภายใต้โครงการนี้ให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถพักชำระหนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากธนาคารเฉพาะกิจช่วยที่เหลือประชาชนและผู้ประ กอบการด้วยการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) แบบอัตโนมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว”

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบมาตรการดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน โดย ธปท.จะออก พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. BSF) วงเงิน 400,000 ล้านบาท สำหรับเพิ่มสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน และให้ ธปท.สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกให้ทำงานได้เป็นปกติ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว โดยจะจะเน้นตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและครบกำหนดชำระก่อนมีเงื่อนไขคือบริษัทนั้นต้องหาเงินมาได้เอง 50% ก่อน แล้วเงินจะเติมให้ 50% เพื่อดูแลสภาพคล่อง

ส่วนมาตรการสุดท้ายคือ การบริหารเงินงบประมาณ2563 โดยรัฐบาลจะบริหารเงินงบประมาณในปัจจุบัน ที่ไม่ได้ใช้ หรือไม่มีความจำเป็นแล้ว เช่น งบจัดสัมมนาและอบรม และงบประชุมต่างประเทศ โดยสำนักงบประมาณคาดว่า จะใช้ดึงเงินจากส่วนราชการได้ 80,000-100,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนเงินงบประมาณ2563 ซึ่งจะมีการหารือในที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเดือนพ.ค.คาดว่าจะมีผลเดือนมิ.ย.นี้

นายอุตตม กล่าวย้ำว่า มาตรการทั้งหมดนี้มีการกู้เงินจริงๆ 1 ล้านล้านบาท ส่วน พ.ร.ก. 2 ฉบับของ ธปท. เป็นการเปิดให้ใช้วงเงินของ ธปท.เอง ไม่ได้เป็นเงินกู้เงินในระบบ อย่างไรก็ตาม หากกู้เงินเต็มเพดาน 1 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายประเทศ)จากเดือนก.พ.อยู่ที่ 7.02 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41.1% ของหนี้สาธารณะ จะขึ้นไปที่ 57%ต่อจีดีพี ใกล้เพดานกรอบวินัยการเงินคลังที่ระบุว่า ที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี ดังนั้น ในเร็วๆนี้ นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังเพื่อพิจารณาขยายเพดานหนี้สาธารณะ

ส่วนกรณีมีประชาชนร้องเรียนว่า บริษัทไฟแนนซ์รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไม่มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนเหมือน กับ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ นายอุตตม กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารออมสินจะจัดซอฟโลน์วงเงิน 80,000 ล้านบาท นำไปช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินดังกล่าวไปช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของแต่ละบริษัท โดยการผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ลิสซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื้อรถจักรยาน ยนต์และสินเชื่อทะเบียนรถให้แก่ประชาชน