ครม.ทุ่มแจกเงิน 390,000 ล้านบาทใช้ทั้งงบประ มาณและเงินกู้

  • เพิ่มโควตาเราไม่ทิ้งกันอีก 2 ล้านคน
  • เกษตรกรได้อีก 10 ล้านครัวเรือน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่มีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน เป็นผู้เสนอโครงการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีกรอบการใช้วงเงินทั้งสิ้น 390,000 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จำนวน 320,000 ล้านบาท และใช้งบประมาณ 70,000 ล้านบาท


ประกอบด้วย 1.ขยายการจ่ายเงินเยียวยาประชาชนที่เป็นแรงงาน ลูกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ตามที่ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพิ่มให้อีก 2 ล้านคน จากเดิมอนุมัติไว้ 14 ล้านคน เพิ่มเป็น 16 ล้านคน โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้กรอบการจ่ายเงินที่เคยอนุมัติไว้ 210,000 ต้องเพิ่มอีก 30,000 ล้านบาท เป็น 240,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้จะใช้งบประมาณประจำปี 2563 จำนวน 70,000 ล้านบาท ที่จะนำมาจ่ายให้ในช่วงเดือนแรก

ส่วนที่เหลือจะใช้จากเงินกู้ 170,000 ล้านบาท ที่รายงานว่าจะเริ่มเบิกจ่ายเงินกู้ได้เร็วสุดวันที่ 8 พ.ค. 2563
2.ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 10 ล้านราย(ครัวเรือน) รายละ 5,000 บาท มีระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ค. 2563 รวมกรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ฯ ระยะแรก คือ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร 6.19 ล้านราย กรมปศุสัตว์ 1.6 ล้านราย และกรมประมง 640,000 ล้านราย รวม 8.53 ล้านราย ส่วนอีก 1.57 ล้านรายอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน


ด้านน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้จะได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและวหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)จะจ่ายเงินให้ตามกลไกของธนาคารสำหรับ8.43 ล้านรายแรก ส่วนอีก 1.57 ล้านรายอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และหากยังมีเกษตรกรรายใดที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ก็สามารถมาขึ้นทะเบียนได้ถึงวันที่ 15 พ.ค.นี้ ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้ตามข้อมูลความเป็นจริง ทั้งนี้ ยังพบข้อมูลด้วยว่ามีเกษตรกรอีกเป็นล้านคนที่เคยขึ้นทะเบียนแล้วไม่เคยมาอัพเดทหรือแจ้งปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ในส่วนนี้จะไม่ได้รับเงินเยียวยา นอกจากนี้เกษตรกรที่ถือบัตรสีชมพู จะได้รับเงินเยียวยาด้วยเพราะถือว่าทำอาชีพอาชีพเกษตรกรจริง แม้ว่าจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ทำกินก็ตาม