ครม.ขยายแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน ออกเป็น 14 ล้านคนใช้เงินร่วม210,000ล้านบาท

  • เกษตรกรที่มาเป็นลูกจ้าง หรือทำงานอิสระได้ด้วย
  • รวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่ทำงานพาร์มไทม์

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ขยายจำนวนผู้รับเงินชดเชยเยียวยาจากรัฐบาลเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน จากเดิมมอนุมติไว้ 9 ล้านคน ขยายเป็น 14 ล้านคน เนื่องจากพิจารณาจากจำนวนของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มาลงทะเบียนมีเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีการตรวจสอบสิทธิ์ตามที่ได้มีการอุทรณ์เข้ามาพบว่ามีจำนวนที่เพิ่มกว่าเป้าหมายเดิมอย่างมากจึงขอขยายจำนวนคงที่เข้าโครงการซึ่งจะได้รับเงินจากภาครัฐเทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 135,000 ล้านบาท เป็น 210,000 ล้านบาทซึ่งเงินในส่วนนี้จะใช้จ่ายงบประมาณฯจาก ทั้งเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท รวมทั้งใช้เงินจากการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบในหลักการการขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเดิม 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน เนื่องจากพบว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมีมากกว่าที่ได้ประมาณการไว้ โดยตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. ถึงวันที่ 16 เม.ย. 2563 เวลา 20.00 น. มีผู้ลงทะเบียน 27.76 ล้านคน และมีการร้องเรียนว่า ผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนมีรายชื่อปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือ นักเรียน นักศึกษา แต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก

ดังนั้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ครม.จึงเห็นชอบทบทวนให้ผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนมีรายชื่อปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ได้รับสิทธิตามมาตรการฯ ด้วยอย่างไรก็ตาม หากผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มดังกล่าวได้รับสิทธิตามมาตรการฯ แล้ว จะไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการใด ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) อีกต่อไป และมติ ครม.ครั้งนี้ให้รวมไปถึงผู้ได้รับผลกระทบที่ปรากฏชื่ออยู่ในฐานข้อมูลนักเรียนนักศึกษา แต่เป็นนักเรียน นักศึกษาไม่เต็มเวลา และประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ให้ได้รับสิทธิตามมาตรการฯ นี้ด้วย