คมนาคมเดินหน้าลุยฟ้อง”โฮปเวลล์” 3 คดีใหม่ -“ศักดิ์สยาม”มั่นใจพลิกคดีกลับมาชนะประเทศไทยไม่เสียค่าโง่!

“ศักดิ์สยาม” เร่งฝ่ายกฎหมายทำสำนวนยื่นฟ้องโฮปเวลล์ใหม่ได้เรียบร้อยในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ มั่นใจ!สู้คดีรอบนี้ประเทศไทยไม่เสียเปรียบพลิกชนะ 100% เดินหน้าลุยฟ้อง 3 คดี ทั้งรื้อคดีใหม่ -เพิกถอนการจดทะเบียนโฮปเวลล์ -ฟ้องนายทะเบียน ที่ละเว้นไม่เพิกถอน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีโฮปเวลล์ ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรื้อคดี ทำให้ กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือ ค่าโง่ ให้เอกชน 2.4 หมื่นล้านบาทนั้นว่า ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้ทำ action plan แนวทางการต่อสู้คดีและได้มอบอำนาจให้อัยการสูงสุด แต่งตั้งพนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการในคดีแทนกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการทำคำฟ้อง มั่นใจว่าจะยื่นฟ้องได้ภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะมีการรวบรวมเอกสารหลักฐานให้ได้มากและเพียงพอในการชี้แจงต่อศาล อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นในหลักฐานที่มีทั้งหมดว่าจะสามารถพลิกคดีให้ชนะได้100% เพราะทั้งหมดนี้ได้ยึดหลักกระบวนการยุติธรรมที่จะไม่ให้ประเทศเสียผลประโยชน์

ทั้งนี้ในการการดำเนินคดีเกี่ยวกับโฮปเวลล์ในขณะนี้จะแบ่งออกเป็น 3 คดี ประกอบด้วย 1. คดีที่พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงคมนาคมและ รฟท มอบหมายให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทน โดยอธิบดีอัยการสำนักคดีปกครอง ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาคดี และมอบหมายให้ นายเกษม ธีระเดชานนท์ เป็นอัยการผู้รับผิดชอบคดี , 2. คดีแพ่งที่กระทรวงคมนาคมมอบอำนาจให้อัยการพิเศษฝ่ายคดีแพ่ง 8 คือ นายฐนัตเดช ค้ำชู เป็นผู้รับผิดชอบคดีในการฟ้องขอให้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้สัญญาจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโมฆะ เพราะกระทำผิด ปว.281 ล่าสุดได้มีการกำหนดนัดพร้อมเพื่อความเห็นของศาลปกครองว่า เป็นคดีแพ่งหรือไม่ โดยศาลแพ่งนัดพร้อมในวันที่ 27 มิ.ย. 65 เวลา 09.00 น.

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นศาลแพ่งเห็นว่าเป็นคดีแพ่ง หากศาลปกครองกลางเห็นด้วยก็จะมีดำเนินคดีต่อในศาลแพ่งต่อไป แต่หากศาลปกครองกลางเห็นต่างจากเข้าคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล และ 3. คดีปกครองที่ รฟท.ได้มีการมอบอำนาจให้นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ เป็นผู้ฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพฯ จากเหตุที่ไม่เพิกทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ฯ ที่กระทำผิด ปว. 281 ทั้งนี้ในเบื้องต้นศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ดังนั้น รฟท.จึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าว และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า กรณีที่ศาลปกครอง สั่งรื้อคดี โฮปเวลล์ นั้น ทางรฟท.มองว่าเป็นเรื่องที่ดีกับภาครัฐ หลังจากนี้ รฟท.จะต้องเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าต่อไปตามกฎหมาย โดยยืนยันว่าทางกระทรวงคมนาคม และ รฟท. มีความพร้อมในเรื่องนี้อย่างมาก และพร้อมปรับตัวให้สอดคล้องต่อรูปคดีที่เกิดขึ้นจนถึงที่สุดต่อไป เพราะขั้นตอนจากนี้เหมือนเป็นการเริ่มต้นคดีใหม่ในชั้นศาลปกครองกลาง

โดยกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.มีการร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งศาลจะมีการไต่สวนทั้ง 2 ฝ่าย และโฮปเวลล์อาจต้องให้การใหม่ โดยหากมีการต่อสู้คดีจนถึงศาลปกครองสูงสุดอีกครั้งก็อาจต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี สำหรับประเด็นที่จะนำมาต่อสู้หลังจากนี้ อาทิ เรื่องอายุความขอคดี มติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) การจดทะเบียนวัตถุประสงค์ บริษัทฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และรื่องการลงนามในสัญญา ผู้ลงนามไม่ใช่บริษัทที่ได้รับสัมปทาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีค่าโฮปเวลล์นั้น สืบเนื่องเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 65 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาใหม่ในคดีโฮปเวลล์ จากนั้น เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 65 โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำหนังสือถึงศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว ขอให้งดการบังคับคดี พร้อมทั้งแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้สำนักงานบังคับคดีปกครองทราบด้วย


สำหรับคดีดังกล่าวนั้น ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวม 25,711 ล้านบาท ภายใน 180 วัน ซึ่งเมื่อศาลฯ มีคำสั่งงดบังคับคดี จะส่งผลให้คำสั่งชดใช้ค่าเสียหายข้างต้น รวมดอกเบี้ยจะถูกชะลอออกไปก่อน